พล.ต.ท.ไตรรงค์ ไม่กังวล "บิ๊กโจ๊ก ฟ้องกลับ ม.157
27 ก.ย. 2566, 15:20
วันที่ 27 ก.ย. 2566 พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผู้บัญชาการสำนักงานกฎหมายและคดี (ผบช.กมค.) กล่าวถึงความคืบหน้า คดีเว็บไซต์พนันออนไลน์ ซึ่งปรากฎ 8 ผู้ต้องหา เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(รองผบ.ตร.) และกรณีการเข้าตรวจค้นบ้านพักของพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เมื่อวันที่ 24 กันยายน ที่ผ่านมา
วันนี้คณะทำงานจะประชุมหารือกัน เพื่อขยายผลต่อไปยัง ทั้งพลเรือน,ตำรวจและทหาร จากกลุ่มผู้ต้องหาที่มีการจับกุม โดยในส่วน “เสี่ยแต๋ม และภรรยา” ที่ข้อมูลระบุว่า เป็นเจ้าของบ้านที่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เช่าให้ผู้ใต้บังคับบัญชาพักอาศัย อาจมีการเรียกมาสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับความเชื่อมโยงกับผู้ต้องหาที่ถูกจับกุม ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของพนักงานสอบสวน
ส่วนข้อมูลที่ระบุว่า บุคคลในครอบครัวของ “เสี่ยแต๋ม” อยู่ในชุดทำงานของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หรือไม่ พล.ต.ท.ไตรรงค์ กล่าวว่า ยังไม่รู้ข้อมูลส่วนนี้ แต่เชื่อว่าเจ้าหน้าที่จะทำงานขยายผลต่อไปจนทราบข้อเท็จจริง
พล.ต.ท.ไตรรงค์ ยังคงยืนยันว่า ผู้ต้องหาที่เป็น 8 นายตำรวจ ยังให้การไม่เป็นประโยชน์ และปฏิเสธในทุกข้อกล่าวหา ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่จะต้องสืบหาข้อเท็จจริงต่อไป
ส่วนการเรียกสอบกลุ่มสื่อมวลชน พล.ต.ท.ไตรรงค์ กล่าวว่า ตนขอให้มองกลุ่มนี้เป็นในส่วนพลเรือน มีบางรายที่เจ้าหน้าที่เองก็มีข้อมูลว่าเป็นสื่อมวลชน หรือ รู้เองในวงการว่ารายชื่อดังกล่าวเป็นสื่อมวลชน กลุ่มนี้จะมีการเรียกสอบในฐานะที่มีเส้นทางการเงินเกี่ยวข้องกับบัญชีม้าของกลุ่มผู้ต้องหาที่มีการจับกุม ส่วนการรับเงินโดยตรงจากบัญชีอื่นๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับคดี ก็ถือว่า ไม่ได้มีความผิด
เมื่อถามถึงความกังวล กรณีที่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ตั้งทนายเตรียมฟ้องกลับฐานปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ พล.ต.ท.ไตรรงค์ ระบุว่า ประการแรก ต้องให้ความเป็นธรรมกับชุดสืบสวนสอบสวนและชุดจับกุมก่อน ตนยืนยันว่า ในทุกขั้นตอนและกระบวนการเป็นไปอย่างถูกต้อง ตามหลักขั้นตอนของกฎหมาย
ตามปกติแล้ว หากผู้ต้องหา หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องต้องการยื่นฟ้องกลับตำรวจ ในข้อหา ม.157 ก็สามารถทำได้ เป็นสิทธิ์ของบุคคลเหล่านั้น แต่เจ้าหน้าที่เองที่ปฏิบัติงาน ก็ต้องมั่นใจว่าทำหน้าที่อย่างถูกต้อง ครบถ้วน รอบคอบ ตนขอย้ำว่าคดีเว็บไซต์พนันไม่ได้กระทำแค่วานนี้ แต่เป็นการกระทำต่อเนื่องมาตั้งแต่กรณีของ“บอสตาล” และ “มินนี่” จึงเชื่อได้ว่าข้อมูลหลักฐานรัดกุม
พล.ต.ท.ไตรรงค์ กล่าวชี้แจงการออกหมายจับ 8 นายตำรวจ ที่ไม่ระบุยศ แต่เป็นการใส่คำนำหน้านายแทน ในส่วนนี้ตามข้อกฎหมายไม่ได้ระบุว่า จะต้องใส่ตำแหน่งหน้าที่การงาน เพียงแต่ให้ใส่ในส่วนของชื่อและรูปพรรณ โดยตนสอบถามชุดจับกุมแล้ว ทราบว่าได้ให้การต่อศาลในระหว่างออกหมายจับว่า บุคคลตามหมาย ประกอบหน้าที่อะไร ไม่ได้ปิดบัง และการออกหมายเป็นการอนุมัติตามพยานหลักฐาน
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ชุดทำงานของตนออกหมายจับตำรวจ ด้วยการใช้สรรพนามว่า “นาย” แต่สำหรับการทำงานของตนมองว่าการดำเนินคดีกับบุคคลที่ประกอบอาชีพเป็นตำรวจบางครั้งเราก็ต้องยึดถึงเกียรติอาชีพหน้าที่ การที่ตัดสินใจไม่ใช้ยศตำรวจถือเป็นการป้องกันเกียรติยศศักดิ์ศรีความเป็นตำรวจ
ส่วนที่สังคมตั้งคำถามว่า ทำไมตำรวจไม่จัดการภายในองค์กร ต้องทำให้เป็นเรื่องราวใหญ่โต เรื่องนี้ ตนขอย้ำว่า ไม่ว่าตำรวจชุดไหน กลุ่มไหน หากเป็นผู้ต้องหาที่มีการกระทำความผิด องค์กรตำรวจก็จะไม่ปกป้องจะต้องดำเนินคดี ถ้ามีการไปคุยกันเองก่อนจะดำเนินคดีอย่างนี้ถึงจะเรียกว่า “ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ”
เมื่อถามว่า หากหลังจากนี้จะมีกลุ่มผู้ต้องหาออกมาชี้แจงจะถือเป็นการยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน จนต้องขอยื่นคัดค้านการประกันหรือไม่ พล.ต.ท.ไตรรงค์ กล่าวว่า ก็ต้องดูพฤติการณ์และเจตนาของการกระทำ หากเป็นการชี้นำ และทำให้พยานหลักฐานในคดีกระทบพนักงานสอบสวน ก็จะใช้ดุลยพินิจเพิกถอนการประกันตัวชั่วคราว แต่หากเป็นการแสดงความคิดเห็นตามปกติ ก็สามารถทำได้ เป็นสิทธิ์ของบุคคลนั้น