ปฏิบัติการช่วยเหลือ "ลูกช้างป่า" เขาตะแบก จ.จันทบุรี หลังพบมีปัญหาสุขภาพ
13 ก.ย. 2566, 13:32
วันที่ (12 ก.ย. 2566) นายพิทักษ์ อินทศร ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 (ศรีราชา) รายงานว่า กรณีรับแจ้งการพบเจอลูกช้างป่ามีลักษณะผอมคาดว่ามีปัญหาสุขภาพ ในพื้นที่ เขาตะแบก ม.12 ต.โป่งน้ำร้อน อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี ล่าสุดวันนี้ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองเครือหวายเฉลิมพระเกียรติ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว ทีมสัตวแพทย์ประจำส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า ทีมสัตวแพทย์จากศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 2 (กระบกคู่) ทีมสัตวแพทย์จากสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าช่องกล่ำบน เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองเครือหวาย เฉลิมพระเกียรติ เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว เข้าตรวจสอบพื้นที่ และได้ร่วมปฏิบัติการ ดังนี้
เวลา 09.00 น. แบ่งทีมยิงยาซึมพร้อมเจ้าหน้าที่ออกเป็น 2 ทีม เพื่อเข้าพื้นที่ค้นหาลูกช้างป่าโดยในระหว่างการค้นหาทีมยิงยาซึมได้พบตัวลูกช้างป่าจึงได้ทำการติดตามเพื่อจะดำเนินการยิงยาซึมแต่ลูกช้างป่าวิ่งหนีเข้าป่าทึบทำให้ทีมยิงยาและเจ้าหน้าที่ตามตัวลูกช้างป่าไม่ทัน
เวลา 10.00 น.ทีมสัตวแพทย์และทีมยิงยาซึมพร้อมทั้งเจ้าหน้าที่ทำการปรับเปลี่ยนแผนการทำงานโดยการใช้วิธีผูกเปลบนต้นไม้ในการซุ่มยิงยาซึมแทนการเดินเท้าในป่า และจัดเตรียมทีมคุ้มกันเพื่อป้องกันโขลงช้างป่าที่อยู่ในบริเวณโดยรอบ
เวลา 11.28 น. ทีมยิงยาซึมได้ทำการยิงยาซึมลูกช้างป่า และพบว่าลูกช้างป่ามีอาการตื่นตกใจและวิ่งหนีเข้าป่าทึบ ทำให้ไม่สามารถตามตัวลูกช้างป่าได้ทัน
เวลา 13.30 เจ้าหน้าที่เจอลูกช้างป่า หลังจากทีมยิงยาซึมได้ทำการยิงยาซึมและค้นหา
เวลา 13.35 น. ทีมสัตวแพทย์เข้าถึงตัวลูกช้างป่า หลังจากนั้นทำการตรวจร่างกายโดยละเอียด พบว่า ลูกช้างป่ามีอาการผอม (Body condition score) อยู่ที่ 2/5 คะแนน มีอาการขาดน้ำจากการที่ลูกตาภายในเป้าตาจมลึก พบแผลในช่องปากและงวงโดยแผลนั้นเป็นแผลที่มีการสร้างเนื้อเยื่อขึ้นมาทดแทนแล้ว ไม่พบบาดแผลตามร่างกาย การขับถ่ายเป็นก้อนปกติ การจากตรวจลักษณะภายนอกร่างกายทีมสัตวแพทย์ลงความคิดเห็นว่าลูกช้างป่าตัวดังกล่าวนี้มีความผิดปกติทางด้านสุขภาพจากการที่เป็นแผลในช่องปากและงวงส่งผลทำให้การกินอาหารลดลงทำให้ร่างกายขาดสารอาหารและในขณะนี้เป็นช่วงการฟื้นฟูร่างกายของลูกช้างป่าทำให้ลูกช้างป่าเริ่มกลับมาแข็งแรงมากขึ้นจึงได้ทำการรักษาเบื้องต้นด้วยการให้ยาฆ่าเชื้อ ยาบำรุงร่างกาย ยาบำรุงกล้ามเนื้อ ให้สารน้ำทางเส้นเลือดดำพร้อมกับวิตามิน ทำความสะอาดบาดแผลในช่องปากและงวง และดำเนินการเก็บตัวอย่างเลือด ตัวอย่างสวอปในช่องปาก สวอปทางทวารหนัก และขี้ลูกช้างป่า ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการในวันที่ 13 กันยายน เพื่อตรวจหาโรคแทรกซ้อนในร่างกายของลูกช้างป่าเพื่อประกอบการรักษาในครั้งถัดไป
เวลา 14.35 น. สัตวแพทย์ได้ให้ยาฟื้นจากยาซึม และพบว่าลูกช้างฟื้นจากยาสลบได้เป็นอย่างดีและเดินเข้าป่าทึบในเวลาถัดไป
จากนั้นทีมเจ้าหน้าที่ดำเนินการทำบ่อน้ำสำหรับลูกช้างป่าในพื้นที่เพื่อชดเชยการขาดน้ำของลูกช้างป่าโดยดำเนินการในจุดที่ลูกช้างป่าอาศัยอยู่ โดยทีมสัตวแพทย์ดำเนินการจัดเตรียมยากินเพื่อถ่ายพยาธิอย่างต่อเนื่อง เป็นเวลา 3 วันและยาบำรุงร่างกายกินต่อเนื่องเป็นเวลา 10 วันโดยการเจ้าหน้าที่ได้ซ่อนยาในกล้วยสุกและนำไปวางในจุดที่ลูกช้างป่าอาศัยอยู่
จากสุขภาพที่พบของลูกช้างป่า ทีมสัตวแพทย์ลงความคิดเห็นว่า ลูกช้างป่ามีความแข็งแรงเพียงพอที่สามารถดำเนินชีวิตอยู่ในป่าได้ จึงไม่ได้ทำการเคลื่อนย้ายออกมาจากป่า แต่จะใช้การติดตามอาการของลูกช้างป่าอย่างต่อเนื่องแทน