เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



รองโฆษกฯ เผย! หน่วยงานไทยพร้อมดำเนินการตามมาตรการสิ่งแวดล้อมของ EU ตามกฎระเบียบว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า (EUDR)


4 ส.ค. 2566, 09:21



รองโฆษกฯ เผย! หน่วยงานไทยพร้อมดำเนินการตามมาตรการสิ่งแวดล้อมของ EU ตามกฎระเบียบว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า (EUDR)




วันที่ 4 สิงหาคม 2566 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ต่อกรณีที่ สหภาพยุโรป (อียู) ได้ออกกฎระเบียบว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า (Deforestation-free products Regulation : EUDR) หรือ Regulation (EU) 2023/1115 กำหนดให้ผู้นำเข้าสินค้าเกษตร 7 กลุ่ม ได้แก่ โค โกโก้ กาแฟ น้ำมันปาล์ม ยางพารา ถั่วเหลือง และไม้ รวมถึงผลิตภัณฑ์จะต้องลงทะเบียนในระบบฐานข้อมูลและแจ้งข้อมูลที่เกี่ยวกับการผลิต เพื่อให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับ และวิเคราะห์ข้อมูลผ่านระบบภาพถ่ายจากดาวเทียมว่าสินค้านั้นผลิตบนพื้นที่ตัดไม้ทำลายป่า (Deforestation) หรือทำให้ป่าเสื่อมโทรม (Degradation) หรือไม่ เพื่อลดการทำลายพื้นที่ป่าของโลก และลดการนำเข้าสินค้าที่มีความเสี่ยงในการทำลายป่าเข้ามาใน EU



รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีระบุว่า เกษตรกรและผู้ส่งออกที่เกี่ยวข้อง จะมีเวลาเตรียมการ (transitional period) ก่อนที่มาตรการนี้จะมีผลบังคับใช้ ในวันที่ 30 ธันวาคม 2567 ส่วนผู้ประกอบการขนาดกลาง เล็ก และย่อม (MSME) ที่จัดตั้งขึ้นภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2563 จะมีเวลาเตรียมการ ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2568 ก่อนที่มาตรการจะมีผลใช้บังคับ โดยคาดว่า EU จะออกมาตรการลำดับรองเพื่อให้มาตรการบังคับใช้มีความชัดเจนมากขึ้น อาทิ กำหนดหน่วยงานรับผิดชอบ บทลงโทษ การจัดทำระบบฐานข้อมูล และการจัดกลุ่มประเทศตามระดับความเสี่ยงในการตัดไม้ทำลายป่า 
 
โดยที่ผ่านมาหน่วยงานภาครัฐของไทยได้เร่งดำเนินการในหลายมิติเพื่อเตรียมการก่อนที่มาตรการนี้จะมีผลบังคับใช้ หารือเกี่ยวกับผลกระทบของกฎหมายสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่า (Regulation on Deforestation-Free Products: EUDR) ของ EU ต่อไทย และการเตรียมความพร้อมของฝ่ายไทยต่อมาตรการดังกล่าว ซึ่งผลการหารือได้ทำให้เกิดการเตรียมความพร้อมสำหรับภาครัฐและภาคเอกชนตลอดจนเกษตรกรของไทย 


โดยกรมป่าไม้ได้ร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ดำเนินการ และสอดคล้องกับกฎระเบียบว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า (Deforestation free products Regulation : EUDR) ดังนี้ 
1) จัดทำขอบเขตพื้นที่ป่าไม้ตามกฎหมาย (พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 พระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 และข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมแสดงพื้นที่ป่า) 
2) มีการพัฒนาปรับปรุงกระบวนการควบคุมการค้าไม้ที่ถูกต้องตามกฎหมายเพื่อให้สินค้าไม้ที่ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้นที่จะสามารถวางจำหน่ายได้ 
 
โดยในส่วนของผลิตภัณฑ์จากยางพาราของประเทศไทย สินค้ายางและผลิตภัณฑ์ ได้แก่ น้ำยาง (latex) ยางก้อนถ้วย (cup lump) ยางเครป (rubber crepe) ยางแผ่นดิบ (rubber sheet) ยางแผ่นรมควัน (rubber smoked sheet) จะต้องไม่มีที่มาจากสวนยางที่บุกรุกพื้นที่ป่าสงวนฯ ตามมาตรฐาน FSC (Forest Stewardship Council) โดยมาตรฐาน FSC ได้มีการใช้เป็นการทั่วไปแล้ว ซึ่งการยางแห่งประเทศไทย ได้รวบรวมชาวสวนยางให้ปฏิบัติตามมาตรฐาน FSC ในนามของสมาชิกกลุ่มจัดการสวนยางพารา (FSC) แล้ว ส่วนการออกกฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า ปัจจุบันคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป ได้ให้ความเห็นชอบไปแล้ว และกำลังเข้าสู่กระบวนการประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมายภายในปี 2567 โดยขณะนี้ การยางแห่งประเทศไทยอยู่ระหว่างจัดทำฐานข้อมูลการเพาะปลูกยางพารา และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยอยู่ระหว่างการจัดทำคู่มือสำหรับสมาชิกสภาอุตสาหกรรมฯ เพื่อใช้ประกอบการดำเนินการตามระเบียบดังกล่าว ขณะที่ กระทรวงการต่างประเทศ และกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้ประสานกับ EU เตรียมเชิญผู้เชี่ยวชาญมาจัดสัมมนา ฝึกอบรมให้เกิดความเข้าใจก่อนมาตรการจะบังคับใช้จริง 
 
“ด้วยผลกระทบจากความท้าทายในประเด็นสิ่งแวดล้อม ที่ส่งผลโดยตรงต่อประชากรโลกอย่างมีนัยยะสำคัญ เกิดเป็นความตื่นตัวต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ การป้องกันดูแล รักษาโลก อย่างยั่งยืน ทำให้เกิดเป็น มาตรการ กฎระเบียบจากองค์การระหว่างประเทศเพื่อกำหนดกติกาให้ทั่วโลก ประเทศไทยต้องเตรียมพร้อมที่จะมีบทบาทสำคัญปรับการทำงานจากให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง เป็นประเมินและหาโอกาสเพื่อการเปลี่ยนแปลงอย่างเร็วที่สุด ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลห่วงกังวลและกำหนดให้ทุกหน่วยงานของรัฐบาลขานรับ เตรียมพร้อมในการดำเนินการตามมาตรการ” นางสาวรัชดาฯ กล่าว






Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.