มติ ครม.เห็นชอบร่างกฎกระทรวงฯ ให้ จ.ภูเก็ต เป็นพื้นที่ใช้มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม
25 ก.ค. 2566, 16:25
วันนี้ ( 25 ก.ค.66 ) น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 25 กรกฎาคม 2566 ว่า ที่ประชุมครม. มีมติเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่ และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในบริเวณพื้นที่จังหวัดภูเก็ต พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ ซึ่งเป็นนการปรับปรุงประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในบริเวณพื้นที่ จ. ภูเก็ต พ.ศ. 2560 ที่จะสิ้นสุดระยะการใช้บังคับในวันที่ 15 ธันวาคม 2567 เพื่อปรับปรุงการกำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมให้มีประสิทธิภาพ และมีความเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบัน
น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า ร่างประกาศฉบับนี้ออกตามความใน พ.ร.บ. ส่งเสริมเละรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 โดยกำหนดให้พื้นที่เขตอนุรักษ์ เขตผังเมืองรวม เขตควบคุมอาคาร และเขตควบคุมมลพิษใน จ. ภูเก็ต เป็นเขตพื้นที่ที่ให้ใช้มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม และได้แบ่งพื้นที่ดังกล่าวออกเป็น 8 บริเวณ เพื่อกำหนดมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในแต่ละบริเวณ เพื่อป้องกัน สงวน รักษา และคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม แหล่งธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมศิลปกรรมที่มีคุณค่าในบริเวณพื้นที่ จ. ภูเก็ตให้คงอยู่ได้อย่างสมดุลตามธรรมชาติเกิดความต่อเนื่อง และคงความสมบูรณ์ยั่งยืนต่อไปในอนาคต โดยมีกำหนดระยะเวลาใช้บังคับ 5 ปีนับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้มีมติเห็นชอบด้วยแล้ว
โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. กำหนดพื้นที่ที่ให้ใช้มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม โดยให้จำแนกพื้นที่ออกเป็น 8 บริเวณ ดังนี้
บริเวณที่ 1 ได้แก่ พื้นที่ในบริเวณที่วัดจากแนวชายฝั่งทะเลรอบเกาะภูเก็ตเข้าไปในแผ่นดิน เป็นระยะ 50 ม. รวมทั้งพื้นที่ในเกาะบริวารต่าง ๆ เว้นแต่พื้นที่บริเวณที่ 5 และบริเวณที่ 6
บริเวณที่ 2 ได้แก่ พื้นที่ในบริเวณที่วัดจากแนวเขตบริเวณที่ 1 เข้าไปในแผ่นดิน เป็นระยะ 150 ม. เว้นแต่พื้นที่บริเวณที่ 5 และบริเวณที่ 6
บริเวณที่ 3 ได้แก่ พื้นที่ในบริเวณที่วัดจากแนวเขตบริเวณที่ 2 เข้าไปในแผ่นดิน เป็นระยะ 200 ม. เว้นแต่พื้นที่บริเวณที่ 5 และบริเวณที่ 6
บริเวณที่ 4 ได้แก่ พื้นที่ในเขตเทศบาลนครภูเก็ต เว้นแต่พื้นที่บริเวณที่ 1-3 และ 5-6 โดยจำแนกพื้นที่ ดังนี้ (1) เขตอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมศิลปกรรม หรือย่านอาคารเก่า (2) เขตหนาแน่นมาก มีแนวเขตตามพื้นที่เขตเทศบาลนครภูเก็ตทั้งหมด ยกเว้นบริเวณที่ 4 (1) และ (3) และ (3) เขตหนาแน่นสูงมาก
บริเวณที่ 5 ได้แก่ พื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางตั้งแต่ 40 ม. ถึง 80 ม.
บริเวณที่ 6 ได้แก่ (1) พื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางตั้งแต่ 80.01 ม. ถึง 140 ม. และ (2) พื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางเกินกว่า 140.01 ม. ขึ้นไป
บริเวณที่ 7 ได้แก่ พื้นที่ในเกาะภูเก็ตและเกาะบริวารต่าง ๆ นอกจากบริเวณที่ 1-6
บริเวณที่ 8 ได้แก่ พื้นที่ทะเลรอบเกาะภูเก็ตและรอบเกาะบริวารต่าง ๆ
2. กำหนดมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของแต่ละบริเวณ ได้แก่
2.1 บริเวณที่ 1-8 จะต้องดำเนินการตามมาตรการเกี่ยวกับโรงงาน โดยจำต้องมีเครื่องจักรหรืออุปกรณ์เพื่อควบคุมพิษหรือแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมถึงกำหนดพื้นที่ว่างน้ำซึมผ่านได้ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 และมีพื้นที่สีเขียวไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของพื้นที่น้ำซึมผ่านได้ โดยมีไม้ยืนต้นเป็นองค์ประกอบหลัก และ ต้องดำเนินการตามมาตรการการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคาร เช่น ต้องมีระยะห่างจากแนวชายฝั่งทะเลไม่น้อยกว่า 20 ม. หรือต้องมีระยะห่าง จากแนวชายเกาะต่าง ๆ ไม่น้อยกว่า 20 ม. ในกรณีที่เกาะนั้นไม่มีชายฝั่งทะเลและห้ามกระทำการหรือประกอบกิจกรรมใดๆ ที่อาจเป็นอันตรายหรือก่อให้เกิดผลกระทบในทางเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศ เช่น การทำเหมืองแร่ การขนส่งหรือลำเลียงวัตถุอันตรายโดยใช้ระบบท่อขนส่ง การทำอาคารนกแอ่นกินรัง และ การถม ปรับพื้นที่ หรือปิดกั้น ซึ่งทำให้แหล่งน้ำสาธารณะในแผ่นดินและแหล่งน้ำในขุมเหมืองสาธารณะตื้นเขิน เป็นต้น
2.2 บริเวณที่ 1-7 จะต้องดำเนินการตามกำหนดมาตรการการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคารในพื้นที่ลาดเชิงเขา เช่น กำหนดให้พื้นที่ก่อสร้างอาคารต้องมีระยะเว้น จากยอดลาดชันหรือตีนลาดชัน กรณีลาดเชิงเขาสูงไม่เกิน 40 ม. ให้มีระยะเว้นมากกว่า 1 เท่า ของความสูงลาดเชิงเขา หรือกรณีลาดเชิงเขาสูงมากกว่า 40 ม. ให้มีระยะเว้นอย่างน้อย 40 ม. เป็นต้น
2.3 ในพื้นที่บริเวณที่ 8 กำหนดห้ามกระทำการหรือประกอบกิจกรรมใดๆ เช่น 1) การทำให้เกิดมลพิษจากการเดินเรือ 2) การเก็บ ทำลาย หรือกระทำด้วยประการใด ๆ ที่อาจเป็นอันตรายหรือมีผลกระทบต่อปะการัง ซากปะการัง หินปะการัง กัลปังหา หรือหญ้าทะเล 3) การสำรวจวัดคลื่นไหวสะเทือน และ
4) การถมทะเลหรือที่ชายตลิ่งปากคลอง เป็นต้น
3. กำหนดให้ในขั้นขออนุมัติหรือขออนุญาตโครงการ ก่อนการดำเนินโครงการ หรือประกอบกิจการ รวมทั้งขั้นตอนการขยายขนาดของโครงการหรือกิจการ ให้จัดทำและเสนอรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นหรือรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม แล้วแต่กรณี ต่อ สนง. นโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระเบียบปฏิบัติที่กำหนดไว้ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
4. ให้สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ. ภูเก็ต ทำหน้าที่ดูแล ติดตาม ตรวจสอบ ประสาน คำแนะนำเกี่ยวกับการบังคับใช้มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม และจัดทำรายงานผลการดำเนินงานเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง