เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



ไทยเจ้าภาพจัดประชุมรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-คงคา จัดตั้งสภาธุรกิจ 6 ประเทศ


11 ก.ค. 2566, 14:31



ไทยเจ้าภาพจัดประชุมรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-คงคา จัดตั้งสภาธุรกิจ 6 ประเทศ




วันนี้ ( 11 ก.ค.66 ) นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2566 ว่า ครม.เห็นชอบร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง - คงคา ครั้งที่ 12 (Joint Ministerial Statement of the 12th Mekong - Ganga Cooperation Ministerial Meeting) โดยจะมีการรับรองร่างแถลงการณ์ร่วมในการประชุมกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง - คงคา ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมวันที่ 16 กรกฎาคม 2566 ณ กรุงเทพมหานคร ในรูปแบบการประชุมแบบผสมผสาน ทั้งนี้ กรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง - คงคา (Mekong - Ganga Cooperation: MGC) จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2543 ซึ่งริเริ่มโดยอินเดีย ปัจจุบันมีประเทศสมาชิกรวม 6 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมา ไทย เวียดนาม และอินเดีย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและความเชื่อมโยงระหว่างอินเดียกับอนุภูมิภาคน้ำโขงใน 10 สาขาความร่วมมือ ได้แก่ (1)การท่องเที่ยว (2)วัฒนธรรม (3)การศึกษา (4)สาธารณสุขและการแพทย์แผนดั้งเดิม (5)การเกษตรและสาขาที่เกี่ยวข้อง (6) คมนาคมและการสื่อสาร (7)วิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดเล็กและขนาดย่อม (8)การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (9)วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ (10)การพัฒนาทักษะและการเสริมสร้างศักยภาพ 

สำหรับเอกสารที่จะรับรองในการประชุมครั้งนี้ ประกอบด้วย ร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง - คงคา ครั้งที่ 12 และเอกสารภาคผนวก 2 ฉบับ ได้แก่ เอกสารแนวคิดเรื่องกลไกประเทศผู้ขับเคลื่อนหลัก (Lead Country) ในแต่ละสาขาความร่วมมือภายใต้กรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง - คงคา และเอกสารแนวคิดเรื่องการจัดตั้งสภาธุรกิจกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง - คงคา (MGC Business Council) ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้

ร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง - คงคา ครั้งที่ 12 มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศสมาชิกและเพิ่มประสิทธิภาพของกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง - คงคา ในหลายสาขาความร่วมมือ โดยมีประเด็นสำคัญ อาทิ

1.หุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา อาทิ ส่งเสริมความร่วมมือในสาขาต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับทรัพยากรน้ำ เช่น เสริมสร้างศักยภาพในการบริหารจัดการภัยแล้งและอุทกภัย ร่วมมือทางวิชาการเกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ

2.การค้าและการลงทุน อาทิ ขยายการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศสมาชิก MGC ส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้าและการจัดการประชุมธุรกิจกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง - คงคา จัดตั้งสภาธุรกิจ MGC เพื่อผลักดันวาระทางเศรษฐกิจ ด้วยการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม 

3.ความเชื่อมโยง อาทิ สนับสนุนโครงการความร่วมมือเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน ซึ่งรวมถึงการพัฒนาโครงการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคม อินเดีย - เมียนมา - ไทย (โครงการถนนสามฝ่าย) แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านดิจิทัลระหว่างประเทศสมาชิก

4.การศึกษา การพัฒนาทักษะและการเสริมสร้างศักยภาพวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการเกษตร อาทิ ส่งเสริมความร่วมมือในสาขาการเกษตรและสาขาที่เกี่ยวข้อง โดยสนับสนุนให้บริษัทเอกชนใช้ประโยชน์จากโอกาสในการลงทุนภาคเกษตรกรรม

5.สาธารณสุข อาทิ ส่งเสริมความร่วมมือในการป้องกัน การตรวจหาเชื้อ และการรับมือกับภัยคุกคามจากโรคระบาดในอนาคตและโรคอุบัติใหม่ พัฒนาความร่วมมือในสาขาการแพทย์แผนดั้งเดิมระหว่างประเทศสมาชิก

6.การท่องเที่ยวและวัฒนธรรม อาทิ ร่วมมือพัฒนาการท่องเที่ยวอัจฉริยะภายในภูมิภาค ส่งเสริมความเชื่อมโยงด้านวัฒนธรรมระหว่างประเทศสมาชิก 

นางสาวรัชดา กล่าวว่า เอกสารภาคผนวกอีก 2 ฉบับ ที่จะมีการรับรอง ได้แก่ 1.เอกสารแนวคิดเรื่องกลไกประเทศผู้ขับเคลื่อนหลัก (Lead Country) ในแต่ละสาขาความร่วมมือภายใต้กรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง - คงคา ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูบทบาทของประเทศผู้ขับเคลื่อนหลักและกลไกคณะทำงานสำหรับสาขาความร่วมมือทั้ง 10 สาขา โดยไทยอาสาเป็นผู้ขับเคลื่อนหลัก 3 สาขา คือ สาขาการท่องเที่ยว สาขาสาธารณสุขและการแพทย์แผนดั้งเดิม และสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 2.เอกสารแนวคิดเรื่องการจัดตั้งสภาธุรกิจกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง - คงคา (MGC Business Council) มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับการมีปฏิสัมพันธ์ทางธุรกิจของประเทศสมาชิกและเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น สภาธุรกิจ MGC ประกอบด้วยสมาชิกทั้งหมดไม่เกิน 60 คน จากประเทศสมาชิกละ 10 คน โดยจะหารือเกี่ยวกับความร่วมมือในสาขาต่าง ๆ ดังนี้ (1)การส่งเสริมการค้าและอุตสาหกรรม (2)การส่งเสริมความร่วมมือทางธุรกิจ (3)การถ่ายทอดเทคโนโลยีและการพัฒนา (4)บทบาทด้านการวิจัยและการให้คำปรึกษา









Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.