เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



สธ. เผยโควิด-19 กทม.-ปริมณฑล พบในครอบครัว ระบาดสูงกว่าที่อื่น


29 พ.ค. 2566, 15:29



สธ. เผยโควิด-19 กทม.-ปริมณฑล พบในครอบครัว ระบาดสูงกว่าที่อื่น




เมื่อวันที่ 29 พ.ค.66 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านสาธารณสุข กรณีโรคโควิด 19 ว่า หลังจากที่ประเทศไทยประกาศให้โรคโควิด 19 เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังตั้งแต่ ต.ค.2565 และองค์การอนามัยโลก ยกเลิกภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ แต่ไม่ได้แปลว่าโรคโควิด 19 จะหมดไป แต่ความรุนแรงลดระดับลง การแพร่ระบาดไม่ได้รุนแรงแบบทั่วโลก จึงปรับมาตรการให้สอดคล้องกัน

ส่วนประเทศไทยเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ แจ้งเตือน และจัดเตรียมเวชภัณฑ์ให้สอดคล้องกัน รวมทั้งคาดการณ์ว่าหลังช่วงสงกรานต์ ช่วงเปิดเทอมและเข้าสู่ฤดูฝน อาจมีผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเพิ่มขึ้น จากการติดตามตัวเลขทั่วโลกพบว่า จำนวนผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตลดน้อยลงเมื่อเทียบกับช่วงระบาดใหญ่

นพ.โอภาส กล่าว ข้อมูลที่เราสนใจ คือผู้ป่วยหนักและเสียชีวิต ก็ยังเป็นไปตามคาดการณ์ว่า หลังสงกรานต์จะมีผู้ป่วยหนักและเสียชีวิตเพิ่มขึ้น โดยสัปดาห์ที่ผ่านมามี 42 ราย ลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้าที่มี 60 กว่าราย ดูแนวโน้มอัตราเริ่มลดน้อยลง ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เสียชีวิตเป็นกลุ่ม 608 คือ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง 7 โรค และหญิงตั้งครรภ์



จากการวิเคราะห์ทางระบาดวิทยา พบว่าคนอายุ 60 ปีขึ้นไปเมื่อป่วยมีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าคนทั่วไป 2 เท่า และอายุ 70 ปีขึ้นโอกาสเสียชีวิตมากกว่า 4 เท่า ปัจจัยสำคัญที่เสียชีวิตคือ เกือบทั้งหมดไม่ได้ฉีดวัคซีนตามคำแนะนำของ สธ. บางคนไม่ฉีดเลยสักเข็ม จากการกลัวผลข้างเคียง

วัคซีนมีประโยชน์ช่วยลดการป่วยและเสียชีวิต ขอให้ลูกหลานพาผู้สูงอายุในบ้านไปฉีดวัคซีน แต่บางครั้งพบว่าลูกหลานคือคนที่กลัวผลข้างเคียง จึงขอย้ำว่าให้ฉีดวัคซีนประจำปี ซึ่งรณรงค์ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยเฉพาะคนที่ยังไม่ได้เคยฉีดเลยก็ไปฉีดได้

นอกจากนี้ คนที่ติดเชื้อและเสียชีวิตพบว่า มักติดเชื้อจากคนในครอบครัว โดยเฉพาะผู้สูงอายุซึ่งไม่ได้ออกไปไหน แต่ลูกหลานที่มีกิจกรรมนอกบ้าน เมื่อติดเชื้อทั้งที่มีอาการและไม่มีอาการก็เอามาติด ดังนั้น การฉีดวัคซีนจึงเป็นมาตรการเร่งด่วนสำหรับผู้สูงอายุ กลุ่ม 608 ที่ยังไม่ฉีดเลยสักเข็ม ส่วนผู้ที่มีผู้สูงอายุในบ้าน หากตนเองมีอาการทางเดินหายใจไม่ควรเข้าไปสัมผัสใกล้ชิดผู้สูงอาย หรือใส่หน้ากากอนามัย จะช่วยลดความเสี่ยงผู้สูงอายุได้


การระบาดในเขต กทม.และปริมณฑลพบว่า มากกว่าเขตอื่นของประเทศไทย แม้ตัวเลขห่างไกลจากการระบาดมากๆ ช่วงที่ผ่านมา สิ่งที่ต้องให้ความสนใจ คือ ผู้ป่วยอาการหนัก ขอให้กรมควบคุมโรคในฐานะเลขานุการคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ทำหนังสือประสานประธานคณะกรรมการโรคติดต่อ กทม./จังหวัด ทุกจังหวัด

โดยเฉพาะเขตปริมณฑล ให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด บูรณาการใช้กลไกคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดดำเนินการประสานความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ กทม. ซึ่งเราไม่มี รพ.ของสำนักงานปลัด สธ. และ กทม.มี รพ.หลากหลาย รวมทั้งเอกชน จึงเป็นหน้าที่ประธานคณะกรรมการโรคติดต่อ กทม.ต้องช่วยดูแลจุดนี้ ซึ่ง สธ.ยินดีสนับสนุนเวชภัณฑ์ ข้อมูลต่างๆ ที่จะประสานเกี่ยวข้องกัน รวมทั้งขอให้สำรวจว่ามีผู้สูงอายุจำนวนเท่าไร ไม่ได้ฉีดวัคซีนเท่าไรแม้แต่เข็มเดียวขอให้เร่งรัดฉีดวัคซีน โดยกรมควบคุมโรคจะประสานจัดส่งวัคซีน ให้เร่งรัดการฉีดวัคซีนประจำปี ประสานบูรณาการส่งต่อผู้ป่วย รพ.ไหนผู้ป่วยเต็ม ก็เป็นหน้าที่แต่ละจังหวัดบูรณาการส่งต่อผู้ป่วยไปยัง รพ.ที่ไม่เต็ม


คำที่เกี่ยวข้อง : #โควิด  




Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.