เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



พบแหล่งตัดหินโบราณอายุนับ 1,000 ปี บนเทือกเขาภูพาน


26 พ.ค. 2566, 15:40



พบแหล่งตัดหินโบราณอายุนับ 1,000 ปี บนเทือกเขาภูพาน




วันที่ 26 พ.ค. 66 นายสรรค์สนธิ บุณโยทยาน นักพิภพวิทยา  อ.วรวิทย์ ตงศิริ ข้าราชการบำนาญ พร้อมด้วยนาย มานพ สาขันธ์โคตร จิตอาสาพัฒนาบ้านเกิด เดินทางลงพื้นที่บ้านม่วง ตำบลบึงทวาย อำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร หลังได้รับแจ้งจากชาวบ้านว่าพบแหล่งตัดหินขนาดใหญ่ ตัดเป็นก้อนสี่เหลี่ยม เส้นผ่าศูนย์กลาง 1-1.5 เมตร คาดว่าเป็นแหล่งตัดหินโบราณที่ได้นำมาสร้างเป็นปราสาทขอมในพื้นที่จังหวัดสกลนคร ได้แก่พระธาตุเชิงชุม พระธาตุดุม และพระธาตุนารายณ์เจงเวง  รวมทั้งพระพุทธรูปหินทรายและฐานโยนี ที่บ้านท่าวัด ต.เหล่าปอแดง อำเภอเมืองสกลนคร ริมหนองหาร



โดยการค้นพบแหล่งตัดหินในครั้งนี้ นายสรรค์สนธิ บุณโยทยาน นักพิภพวิทยา  กล่าวว่าถือเป็นการค้นพบแหล่งตัดหินที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดสกลนคร  ในพื้นที่กว่า 200 ไร่พบหินที่ตัดเป็นสี่เหลี่ยมวางกระจัดกระจายอยู่เป็นจำนวนมาก  จากการสอบถามชาวบ้าน บ้านม่วง ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่อยู่ใกล้แหล่งตัดหินโบราณ ทราบว่า แหล่งตัดหินแห่งนี้ชาวบ้านค้นพบมา 10-12 ปีที่ผ่านมา แต่ไม่มีการกระจายข่าวออกไป  แต่เมื่อไม่นานมานี้มีเจ้าหน้าที่สำนักโบราณคดีได้เดินทางมาสำรวจ สันนิษฐานว่า หินกลุ่มที่พบในจุดนี้มีอายุประมาณ 1,000 ปี เป็นหินชนิดเดียวกันกับที่ใช้ในการก่อสร้างพระธาตุเชิงชุม พระธาตุดุม และพระธาตุนารายณ์เจงเวง  ในตัวเมืองสกลนคร 


นายสรรค์สนธิ บุณโยทยาน นักพิภพวิทยา  กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ชาวขอมโบราณ มีประสบการณ์อย่างโชกโชนเกี่ยวกับการเลือกแหล่งหินทรายเพื่อนำไปสร้างปราสาท ตัวอย่างเช่น  ในประเทศกัมพูชา  มีการค้นพบแหล่งตัดหินอยู่บริเวณเชิงเขา พนมกูเลน  หินทรายที่ตัดเป็นก้อนสี่เหลี่ยมจำนวนมหาศาลจะถูกลำเลียงโดยแพ  ล่องไปตามลำน้ำจนถึงสถานที่ก่อสร้างปราสาทต่างๆ ของขอมโบราณ   ในจังหวัดสกลนคร หินที่พบจุดนี้เป็นที่น่าเชื้อว่าเป็นหินที่นำไปใช้สร้างปราสาทขอมทั้ง 3 องค์อย่างแน่นอน เพราะในพื้นที่ทั่วไปโดยรอบเทือกเขาภูพานพบแหล่งตัดหินจุดนี้ใกล้แม่น้ำ คือลำน้ำพุง คนโบราณเมื่อตัดหินแล้วจะขนส่งหินไปด้วยการล่องแพไปตามลำน้ำพุง เพื่อส่งหินไปยังเมืองหนองหาร เพื่อสร้างปราสาท  นอกจากนี้จุดที่ลำน้ำพุงพบว่ามีเสาขนาดใหญ่อยู่เป็นจำนวนมาก คาดว่านี้เองก็คือเสาที่ขอมโบราณทำเป็นท่าเรือ เพื่อขนย้ายหินลงไปสร้างปราสาทอย่างเป็นระบบ  อย่างไรก็ดีจะมีการสำรวจเพื่อศึกษาประวัติศาสตร์ต่อไป






Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.