“เจาะไอร้อง เจาะไอรัก” อนุรักษ์ ฟื้นฟู สืบสานศิลปะวัฒนธรรมท้องถิ่น” มทภ.4 เผย ปลื้มใจที่ได้เห็นความร่วมมือร่วมใจสืบสานอัตลักษณ์ที่สวยงามในพ
1 พ.ค. 2566, 13:47
ที่สนามที่ว่าการอำเภอเจาะไอร้อง ตำบลจวบ อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส พลโท ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4/ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 เป็นประธานเปิดโครงการ “เจาะไอร้อง เจาะไอรัก อนุรักษ์ ฟื้นฟู สืบสาน ศิลปะวัฒนธรรมท้องถิ่น “ เพื่อสะท้อนความร่วมมือของคนในชุมชน สืบสานวัฒนธรรมและสื่อความเป็นอัตลักษณ์ในพื้นที่เพื่อให้เกิดความเคารพต่อความหลากหลายทางวัฒนธรรม และความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ โดยมี พลตรี ไพศาล หนูสังข์ รองแม่ทัพภาคที่ 4/ รองผู้อำนวยการรักษา ความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า , นายสนั่น พงษ์อักษร ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ,รองผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส,รองผู้บังคับการกองกำลังตำรวจจังหวัดนราธิวาส,นายอำเภอเจาะไอร้อง,ผู้นำศาสนา,ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ และประชาชน ทั้ง 33 หมู่บ้าน ในอำเภอเจาะไอร้อง เข้าร่วมกิจกรรม กว่า 1,500 คน
พลโท ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 / ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 กล่าวว่า ปลื้มใจที่ได้เห็นพี่น้องประชาชน ทั้ง 33 หมู่บ้าน ได้แต่งการด้วยชุดมลายูท้องถิ่นที่เป็นอัตลัดษณ์ที่สวยงาม โดยโครงการ “เจาะไอร้อง เจาะไอรัก อนุรักษ์ ฟื้นฟู สืบสานศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น“ ในครั้งนี้ ได้พูดอยู่เสมอว่า วัฒนธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นสิ่งที่สวยงามมีอัตลักษณ์ที่โดดเด่น และน่าภูมิใจไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของภาษา อาหาร การแต่งกาย ที่สะท้อนให้เห็นความหลากหลายทางวัฒนธรรม และความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ ดีใจเป็นอย่างยิ่งที่ชาวอำเภอเจาะไอร้องได้ให้ความสำคัญต่อการสืบสานวัฒนธรรม ได้จัดประกวดการแต่งกายชุดมลายู การประกวดซุ้มประตูชัย (ปีนตูกรือบัง) ที่กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในพื้นที่ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า พร้อมที่จะสนับสนุนส่งเสริมความงดงามของวัฒนธรรมท้องถิ่นอย่างเต็มที่ในความร่วมมือร่วมใจกันสื่อให้เห็นถึงความรัก ความสามัคคีของคนในชุมชน และหน่วยงานภาครัฐที่พร้อมจะส่งเสริมให้พี่น้องประซาชนร่วมกันทำพื้นที่ให้น่าอยู่เกิดการพัฒนาต่อยอดสร้างความสนใจจากสื่อสังคมและสามารถส่งเสริมการพัฒนาด้านเศรษฐกิจต่อไปได้ในอนาคต
นายมาหะมะยากี หะยีมะ นายอำเภอเจาะไอร้อง กล่าวว่า ในฐานะตัวแทนของพี่น้องประชาชนชาวอำเภอเจาะไอร้อง ต้องขอขอบคุณแม่ทัพภาคที่ 4 ที่ได้ให้ความสำคัญและสนับสนุนการจัดกิจกรรมฯ โดยเฉพาะการรณรงค์แต่งกายชุดมลายูท้องถิ่น และการจัดทำซุ้มประตูชัย (ปีนตูกรือบัง) ซึ่งเป็นเสน่ห์ความงดงามในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้สะท้อนความภาคภูมิใจในความเป็นมลายูสิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องสะท้อนว่าจังหวัดชายแดนใต้ของไทย เป็นสังคมมลายูที่มีมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันและเปิดรับความแตกต่าง พร้อมจะให้ผู้คนต่างวัฒนธรรมได้เรียนรู้ แลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจอย่างสร้างสรรค์และยอมรับการมีตัวตนของกันและกันภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรมที่สวยงาม
ทั้งนี้ ภายในกิจกรรมผู้เข้าร่วมได้ร่วมกันแต่งกายด้วยชุดมลายูท้องถิ่น และมีการมอบรางวัลหมู่บ้านที่ชนะการประกวดซุ้มประตูชัย (ปินตูกรือบัง) และการแต่งกายชุดมลายู รางวัลชนะเลิศได้แก่ ซุ้มประตูชัย หมู่บ้านยานิง ,รองชนะเลิศอันดับที่ 1 ได้แก่ ซุ้มประตูชัย หมู่บ้านบูเก๊ะกือจิ และหมู่บ้านบูเกะตาโมง,รองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ซุ้มประตูชัย หมู่บ้านกูแว นอกจากนี้ มีการแสดงจากเยาวชนด้วยศิลปะการแสดงปันจักสีลัต,การขับร้องอนาซีดบนเวที,ซุ้มอาหารพื้นบ้าน,ซุ้มอาหารจากกรมทหารพรานที่ 48 และซุ้มอาหารจากกลุ่มสตรีในพื้นที่ กว่า 10 ซุ้ม ซึ่งเป็นการสร้างความสามัคคีภายในพื้นที่อีกด้วย