รัฐบาลพร้อมประเมินสถานการณ์-ดำเนินการ ให้ปชช.ได้รับผลกระทบ จากค่าไฟฟ้า พ.ค-ส.ค 66 น้อยที่สุด
20 เม.ย. 2566, 11:52
วันนี้(20 เม.ย. 66) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยรายละเอียดการคำนวณค่าไฟฟ้างวด พ.ค.-ส.ค. 2566 ทั้งในส่วนที่เป็นบ้านอยู่อาศัย และผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่นๆ โดยคิดค่า Ft ในอัตราเดียวกัน ที่ 98.27 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยรวมอยู่ที่ 4.77 บาทต่อหน่วย
ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ สำนักงาน กกพ. ได้ชี้แจงปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการกำหนดราคาค่าไฟว่า สาเหตุหลักของค่าไฟฟ้าแพงเนื่องจากราคาเชื้อเพลิงที่สูง และปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยลดลงค่อนข้างมาก ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงต้นทุนต่ำที่เคยใช้ผลิตไฟฟ้า จึงทำให้ต้องนำเข้า LNG มาทดแทน ซึ่ง LNG มีราคาแพง เป็นผลจากสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน และตรงกับช่วงที่มีความต้องการ LNG มากในฤดูหนาวของทางยุโรป อย่างไรก็ดี ด้วยข้อจำกัดของระบบเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าที่พึ่งพาก๊าซเป็นหลัก ทำให้แม้ในช่วงน้ำมันราคาถูกกว่าก็ยังไม่สามารถใช้น้ำมันผลิตไฟฟ้าแทน LNG ได้ทันที
ในส่วนของรายละเอียดที่มาของโครงสร้างต้นทุนค่าไฟในปัจจุบัน ซึ่งค่าไฟฟ้างวด พ.ค.-ส.ค. 2566 นั้น ค่า Ft จะอยู่ที่ 4.77 บาทต่อหน่วย ซึ่งหากแยกรายละเอียดการคำนวณจะมีส่วนประกอบจาก 6 ส่วน โดยหากเรียงลำดับจากต้นทุนแพงที่สุดไปต้นทุนถูกที่สุดตามลำดับ สามารถแยกรายละเอียดได้ดังนี้
1) ค่าเชื้อเพลิงทุกประเภทเฉลี่ย 2.74 บาทต่อหน่วย
2) ค่าโรงไฟฟ้าเพื่อรักษาความมั่นคงของระบบ 76 สตางค์ต่อหน่วย
3) ค่าต้นทุนระบบจำหน่าย 51 สตางค์ต่อหน่วย
4) ค่าภาระหนี้เชื้อเพลิงการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 35 สตางค์ต่อหน่วย
5) ค่าต้นทุนระบบส่ง 24 สตางค์ต่อหน่วย
6) ค่าใช้จ่ายตามนโยบายภาครัฐ เช่น Adder ค่าไฟฟรีสำหรับผู้มีรายได้น้อย ประมาณ 16 สตางค์ต่อหน่วย
ในส่วนของค่าไฟฟ้าครัวเรือนที่ดูเหมือนสูงกว่าค่าไฟฟ้านอกภาคครัวเรือน เกิดจากค่าไฟฟ้างวดปัจจุบันมีราคาแพงเป็นผลจากปลายปี 2565 เป็นช่วงที่ต้นทุนราคาก๊าซ LNG นำเข้าสูงมากและต้องนำเข้าทดแทน ในขณะที่ปริมาณก๊าซจากอ่าวไทยเชื้อเพลิงต้นทุนต่ำลดลงมาก ทำให้ค่าไฟฟ้าที่แท้จริงในงวดปัจจุบัน (ม.ค.- เม.ย. 2566) ซึ่งปกติหากเป็นอัตราเดียวจะเท่ากับ 5.24 บาทต่อหน่วย แต่รัฐบาลต้องการบรรเทาผลกระทบให้ประชาชน จึงคำนวณค่าไฟจากการจัดสรรก๊าซในอ่าวไทยที่มีราคาถูกให้ประชาชนก่อน จึงเป็นกรณีพิเศษที่ทำให้ประชาชนได้อัตราเดิม 4.72 บาทต่อหน่วย แต่ค่าไฟฟ้าในภาคอุตสาหกรรมงวดปัจจุบัน (ม.ค.- เม.ย. 2566) เท่ากับ 5.33 บาทต่อหน่วย เป็นไปตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมได้ช่วยรับภาระแทนประชาชนบางส่วน ในขณะที่อัตราค่าไฟฟ้าในงวด พ.ค.- ส.ค. 2566 จะเหลืออัตราเดียวเฉลี่ยที่ 4.77 บาทต่อหน่วย อาจจะดูเหมือนเพิ่มขึ้นเล็กน้อยแต่ก็เป็นอัตราที่ถูกลงจากงวดปัจจุบัน
นอกจากนี้ ราคาต้นทุนพลังงานตั้งแต่ปี 2566 ปรับตัวลดลง แต่ กกพ. ยังคงต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์การคำนวณ ค่า Ft ที่ใช้สมมติฐานตัวเลขต้นทุนในปีก่อนหน้า (2565) ซึ่งเป็นการประมาณการต้นทุนในงวดถัดไป ในขณะที่การประกาศค่าไฟฟ้าในงวดก่อนหน้านี้ แนวโน้มเชื้อเพลิงขึ้นมาตลอด กกพ. เองจึงใช้สมมติฐานค่าเชื้อเพลิงต่ำมาตลอด ทำให้ภาระหนี้เชื้อเพลิงเพิ่มมากขึ้น และเมื่อราคาเชื้อเพลิงที่แท้จริงลดลง ส่วนต่างที่เกิดขึ้นก็จะถูกนำไปหักลบกลบหนี้ในการประกาศค่า Ft และค่าไฟฟ้าในงวดต่อไป ดังนั้น ค่าไฟฟ้าที่ถูกลงจะทยอยปรับลดลง ทั้งนี้ ต้องคำนึงถึงภาระหนี้สิน ความน่าเชื่อถือ และสภาพคล่องของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ด้วยเพราะอาจส่งผลกระทบต่อภาพรวมของประเทศได้
“รัฐบาลยืนยันว่าค่าไฟฟ้าจะทยอยปรับลดลงตามราคาเชื้อเพลิงที่ลดลงในอนาคต อีกทั้งแนวทางที่รัฐบาลได้ส่งเสริมการพัฒนา และสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียน ซึ่งมีการดำเนินการในปัจจุบันอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลให้การพึ่งพาเชื้อเพลิงแบบเดิมลดน้อยลง และส่งผลถึงการคำนวณค่าไฟฟ้าที่จะทำให้มีต้นทุนที่ต่ำลงได้อย่างแน่นอน ทั้งนี้ รัฐบาลพร้อมที่จะประเมินสถานการณ์ และดำเนินการเพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด” นายอนุชาฯ กล่าว