เตือนภัย ! "มิจฉาชีพ" เลียนแบบเพจตำรวจไซเบอร์ หลอกลวงแอดไลน์ - ช่วยเหลือคดี
28 มี.ค. 2566, 14:23
เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2566 พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก บช.สอท. กล่าวว่า ขอประชาสัมพันธ์เตือนภัย มิจฉาชีพปลอม หรือลอกเลียนแบบเพจเฟซบุ๊กของตำรวจไซเบอร์ แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่หลอกลวงประชาชน อ้างสามารถช่วยเหลือติดตามคดี แต่กลับนำข้อมูลส่วนบุคคลไปก่อเหตุสร้างความเสียหาย แสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ ดังนี้
ได้รับรายงานจาก กองบังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ตอท.) ว่าได้ตรวจสอบพบเพจเฟซบุ๊กปลอมชื่อ “สืบสวน สอบสวน การป้องกัน และปราบปรามการกระทำผิดทางเทคโนโลยี” ได้นำตราสัญลักษณ์ของหน่วยงานมาใช้เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือในการหลอกลวงประชาชน
ภายในเพจดังกล่าวพบมีการคัดลอกรูปภาพ ข้อความ การแจ้งเตือนภัยออนไลน์ต่างๆ และภารกิจของตำรวจไซเบอร์ของเพจจริงมาใช้ ทำให้ประชาชนที่พบเห็นเพจดังกล่าวเชื่อว่าเป็นเพจจริง เมื่อมีประชาชนติดต่อเข้าไปทาง Facebook Messenger มิจฉาชีพจะส่งไอดีไลน์ พร้อมลิงก์เพิ่มเพื่อนซึ่งใช้บัญชีไลน์ชื่อว่า “ศูนย์ช่วยเหลือ” โทร 1567 (แท้จริงแล้วเป็นเบอร์ของศูนย์ดำรงธรรม) แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ สามารถช่วยเหลือและติดตามคดีที่ประชาชนตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพได้
จากนั้นจะขอข้อมูลส่วนตัวของเหยื่อ เช่น ชื่อนามสกุล วันเดือนปีเกิด หมายเลขบัตรประชาชน หมายเลขโทรศัพท์ อีเมล์ และข้อมูลทางการเงินของเหยื่อ เช่น หมายเลขบัญชีธนาคาร เลขบัตรเครดิต รวมไปถึงหลักฐานทางคดี เช่น หลักฐานการพูดคุยกับคนร้าย หลักฐานการโอนเงิน เป็นต้น
ต่อมา มิจฉาชีพจะนำข้อมูลที่ได้ไปแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ ไม่ว่าจะเป็นการนำข้อมูลไปแฮกบัญชีสื่อสังคมออนไลน์แล้วไปหลอกยืมเงินผู้อื่น หรือใช้รหัสบัตรเครดิตรูดซื้อสินค้า หรือโอนเงินจากบัญชีธนาคาร หรือนำข้อมูลไปขายให้กับแก๊งมิจฉาชีพคอลเซ็นเตอร์ หรือนำไปแอบอ้างทำเรื่องที่ผิดกฎหมายต่างๆ
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบเพจปลอมดังกล่าวได้สร้างขึ้นเมื่อวันที่ 8 มี.ค.66 ขณะนี้มีผู้หลงเชื่อกดติดตามกว่า 7,000 ราย นอกจากนี้ มิจฉาชีพยังได้ใช้เทคนิคในการเข้าถึงบุคคลเป้าหมายโดยการโฆษณาอีกด้วย อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ตำรวจ บช.สอท.ได้เร่งทำการสืบสวนเพื่อนำตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไปโดยเร็วแล้ว
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ให้ความสำคัญ และมีความห่วงใยต่อภัยการหลอกลวงผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับการใช้ หรือแอบอ้างหน่วยงานราชการต่างๆ มาหลอกลวงประชาชน สร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง โดยได้กำชับไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งวางมาตรการในการป้องกันและปราบปรามอย่างต่อเนื่องและจริงจัง
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร., พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. ซึ่งรับผิดชอบในด้านงานป้องกันปราบปราม ได้กำชับสั่งการให้หน่วยงานในสังกัดเร่งดำเนินการปราบปรามจับกุมผู้กระทำผิดอย่างต่อเนื่องและจริงจัง รวมถึงวางมาตรการป้องกันสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของเหล่ามิจฉาชีพ
ที่ผ่านมา บช.สอท. โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ได้ขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในโลกออนไลน์ทุกรูปแบบ
โฆษก บช.สอท.กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปัจจุบันการใช้งาน หรือเข้าถึงบริการต่างๆ บนสื่อสังคมออนไลน์ควรตรวจสอบให้ดีเสียก่อน ระมัดระวังการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลทางการเงิน ข้อมูลทางคดี ซึ่งมิจฉาชีพอาจใช้โอกาสหลอกเอาข้อมูลไปเเสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ สร้างความเสียหายเป็นวงกว้างได้ รวมถึงไม่หลงเชื่อเพียงเพราะมีการแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงาน แอบอ้างสัญลักษณ์ของหน่วยงานนั้นๆ หรือมีการยิงโฆษณา หรือมีชื่อเพจ หรือเว็บไซต์ที่คิดว่าน่าจะเป็นของหน่วยงานนั้นจริง
จึงขอฝากประชาสัมพันธ์ถึงวิธีการหลีกเลี่ยงการเข้าสู่เว็บไซต์ปลอม และเพจเฟซบุ๊กปลอม ดังนี้
1.เพจเฟซบุ๊กที่ถูกต้องของตำรวจไซเบอร์ คือ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี บช.สอท. – CCIB หรือ @CybercopTH และเว็บไซต์ตำรวจไซเบอร์ https://www.ccib.go.th เท่านั้น โดยหากท่านต้องการที่จะเข้าสู่เพจ หรือเว็บไซต์ ขอให้พิมพ์ชื่อด้วยตนเอง ป้องกันการเข้าสู่เพจ หรือเว็บไซต์ปลอม
2.เพจเฟซบุ๊กจริงจะต้องมีเครื่องหมายยืนยันตัวตน หากไม่มีเครื่องหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นเพจปลอม 3.เพจเฟซบุ๊กจริงจะมีส่วนร่วมในการโพสต์เนื้อหา รูปภาพ หรือกิจกรรมต่างๆ ต่อเนื่อง รวมถึงมีจำนวนผู้ติดตามที่ไม่น้อยจนเกินไป 4.เพจเฟซบุ๊กปลอม หรือเลียนแบบ มักจะเพิ่งสร้างขึ้นได้ไม่นาน
5.หมายเลขสายด่วนตำรวจไซเบอร์ คือ 1441 และหมายเลข 08-1866-3000 และไม่มีช่องทางไลน์ในการติดต่อ มีเพียงแชตบอต @police1441 ที่เอาไว้ปรึกษาคดีอาชญกรรมทางเทคโนโลยี คอยให้บริการตอบคำถามประชาชน ตลอด 24 ชั่วโมง
6.การพิมพ์ชื่อหน่วยงานเพื่อค้นหาเว็บไซต์ของหน่วยงานใดๆ ไม่ได้มีความปลอดภัยเสมอไป ควรเพิ่มความระมัดระวังในการสังเกตชื่อเว็บไซต์ หรือสังเกต URL อย่างละเอียด และไม่หลงเชื่อเว็บไซต์ที่มีการยิงโฆษณาของมิจฉาชีพ 7.ไม่กรอก หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลทางการเงิน ข้อมูลทางคดี ผ่านสังคมออนไลน์ต่างๆ เช่น ไลน์ เฟซบุ๊ก โดยเด็ดขาด 8.หากพบ หรือไม่แน่ใจว่าเป็นเพจ หรือเว็บไซต์ของหน่วยงานนั้นๆ จริงหรือไม่ ให้ติดต่อไปยังหน่วยงานนั้นๆ โดยตรง เพื่อแจ้งให้ทำการตรวจสอบทันที