เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



"ผอ.ชลประทาน" เห็นเต็มตา มีการบุกรุกเขตอ่างเก็บน้ำห้วยสำราญเร่งดำเนินการตามกฎหมาย ใช้นวัตกรรม สแกนแอนด์คลิก


25 มี.ค. 2566, 04:21



"ผอ.ชลประทาน" เห็นเต็มตา มีการบุกรุกเขตอ่างเก็บน้ำห้วยสำราญเร่งดำเนินการตามกฎหมาย  ใช้นวัตกรรม สแกนแอนด์คลิก




เมื่อวันที่  24  มี.ค. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณอ่างเก็บน้ำห้วยสำราญ ต.ไพรพัฒนา อ.ภูสิงห์  จ.ศรีสะเกษ นายจำรัส สวนจันทร์ ผอ.โครงการชลประทานศรีสะเกษ เปิดเผยว่า ตนพร้อมด้วย  นายเทอดศักดิ์  เขียนนิลศิริ รอง ผอ.โครงการชลประทานศรีสะเกษ เจ้าหน้าที่ฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 7 และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ได้เดินทางมาทำการตรวจสอบพื้นที่บริเวณนี้ เนื่องจากว่า มีกลุ่มชาวบ้านได้มีการบุกรุกเข้ามาในเขตพื้นที่ของอ่างเก็บน้ำห้วยสำราญ จากการตรวจสอบพบว่า  กลุ่มชาวบ้านและกลุ่มนายทุน ได้บุกรุกเข้ามาทำการก่อสร้างอาคารถาวร ร้านค้า บ้านพักเพื่อทำเป็นร้านอาหาร และรีสอร์ท  รวมทั้งทำการปลูกพืชทำการเกษตร ได้รุกล้ำหลักหมุดของชลประทานศรีสะเกษที่ได้นำเอามาปักเอาไว้เพื่อแสดงเขตของชลประทาน  โดยขณะที่กำลังตรวจสอบอยู่นั้นพบว่า ช่างกำลังทำการก่อสร้างอาคารถาวรเพื่อทำเป็นห้องพักหลายห้องด้วยกัน  โดย ผอ.โครงการชลประทานและคณะได้นำเอานวัตกรรมกระบวนการ สแกนแอนด์คลิก  ที่โครงการชลประทานศรีสะเกษได้รับรางวัล  RID Innovation award 2023 ของกรมชลประทาน  และที่ผ่านมายังมีส่วนร่วมในการสนับสนุนการประกวดรางวัลเลิศรัฐ ของ จ.ศรีสะเกษ  จนทำให้ จ.ศรีสะเกษ  ได้รับรางวัลชนะเลิศ ปี 2565  มาใช้เป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวกเพื่อเข้าถึงข้อมูลเขตชลประทานผ่าน แอปgoogle map บน smart phone  มาใช้ในการตรวจสอบครั้งนี้ด้วย  โดยพบว่า ผู้บุกรุกเขตชลประทาน จำนวน 39 ราย มีพื้นที่ถูกบุกรุกรวม 40 ไร่เศษ โดยมี นายวีระสิทธิ์   นรสิงห์ ผญบ.หมู่ 8 บ้านแซรไปรใต้  ต.ไพรพัฒนา ซึ่งเป็นพื้นที่ติดกับอ่างเก็บน้ำห้วยสำราญ มาร่วมในการตรวจสอบด้วย

นายวีระสิทธิ์   นรสิงห์ ผญบ.หมู่ 8 บ้านแซรไปรใต้ ต.ไพรพัฒนา กล่าวว่า  มีชาวบ้านเข้ามาทำกินในพื้นที่บริเวณนี้มาก่อนที่จะมีการทำอ่างเก็บน้ำห้วยสำราญ หากจะกล่าวหาว่าชาวบ้านบุกรุก ก็จะต้องให้ความเป็นธรรมกับชาวบ้านด้วยเพราะว่าทำกินที่ตรงนี้มานานแล้ว ส่วนนายทุนที่เข้ามาลงทุนทำร้านอาหารนั้น ก็นับว่าเป็นเรื่องที่น่าจะเป็นผลดีต่อการค้าและการท่องเที่ยวบริเวณนี้ เพราะว่า  ทำให้เศรษฐกิจบริเวณนี้ดียิ่งขึ้นเดิม เนื่องจากอยู่ใกล้กับช่องสะงำ แนวชายแดนไทย – กัมพูชา และไม่ได้มีการบุกรุกก่อสร้างเพิ่มเติมขึ้นไปมากกว่านี้อีก ตนเห็นว่า ทางออกที่ดีที่สุดในเรื่องนี้  ควรที่จะให้กลุ่มที่ถูกกล่าวหาบุกรุกทั้ง 39 ราย ได้เช่าเขตพื้นที่บริเวณนี้เพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป ไม่ควรที่จะให้มีการรื้อถอนเพราะว่ามีการลงทุนไปเป็นเงินจำนวนมากแล้ว



นายจำรัส สวนจันทร์ ผอ.โครงการชลประทานศรีสะเกษ กล่าวว่า ตนได้มาตรวจสอบพื้นที่บริเวณที่ราษฎรมีการบุกรุกจากการที่เราได้มีการรายงานกรมชลประทานไปแล้วพบว่า มีการบุกรุกของราษฎรซึ่งมีการแบ่งเป็น 3 กลุ่มด้วยกัน คือกลุ่มนายทุน  กลุ่มราษฎรที่บุกรุกเข้ามาทำการเกษตรมีทั้งที่มีความเดือดร้อนจริงและกลุ่มไม่มีความเดือดร้อนจริง  ซึ่งตรงนี้ทางชลประทานศรีสะเกษได้เสนอไปยังกรมชลประทานแล้ว โดยจุดตรงนี้เป็นจุดที่ล่อแหลมมากเป็นจุดของกลุ่มนายทุนที่เข้ามาสร้างรีสอร์ทและร้านอาหาร เรามีหมุดหลักเขตอยู่แล้ว แต่ได้เข้ามาทำการก่อสร้างรุกล้ำหมุดหลักเขตที่กรมชลประทานได้ปักเอาไว้ทำให้มีการบุกรุกเกิดขึ้น ประกอบกับเรื่องนี้ ป.ป.ช.ศรีสะเกษและกลุ่มสตรอง จ.ศรีสะเกษ ได้เฝ้าติดตามมาโดยตลอดถึงกระบวนการต่างๆที่มีการบุกรุกที่สอดคล้องกับที่กรมโยธาธิการได้ทำเรื่องไป ฉะนั้นเราจะต้องมาแก้ปัญหาร่วมกันในเรื่องการบุกรุกต่างๆแต่ในเบื้องต้นของการบุกรุกนี้ เราได้มีคณะกรรมการชุดใหญ่ระดับจังหวัดโดยมี ผวจ.ศรีสะเกษเป็นประธาน และมีคณะกรรมการชุดย่อยซึ่งมี นายอำเภอภูสิงห์เป็นประธานซึ่งระหว่างนี้ก็อยู่ระหว่างการดำเนินการกับการบุกรุกดังกล่าว

นายจำรัส สวนจันทร์ ผอ.โครงการชลประทานศรีสะเกษ กล่าวต่อไปว่า  โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยสำราญแห่งนี้ กรมชลประทานได้ขออนุญาตการใช้พื้นที่ของกรมป่าไม้  สร้างขึ้นเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วม ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์หลักในการแก้ไขปัญหา โดยที่ระดับน้ำขณะนี้อยู่ที่ระดับ 54% ระดับน้ำที่เราเก็บกักไว้ ระดับน้ำสูงสุดคือประมาณ 206.5 เมตร รทก.  เพื่อผลประโยชน์ของราษฎรที่เป็นวัตถุประสงค์หลักของกรมชลประทานก็คือการแก้ปัญหาเรื่องน้ำ ทั้งการกักเก็บน้ำและบรรเทาภัยจากน้ำต่างๆ ฉะนั้นถ้ามีการบุกรุกก็จะทำให้การบริหารจัดการบริเวณนี้เป็นไปด้วยความยากลำบากขึ้นอย่างแน่นอน  ซึ่งตรงนี้เรามีอายุการขอใช้งานประมาณ 30 ปี ซึ่งหมดอายุไปเมื่อปี 2564 ที่ผ่านมา ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินงานของกรมชลประทานที่จะขออนุญาตใช้พื้นที่ต่อ  เมื่อมีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นทางกรมชลประทานโดยชลประทานศรีสะเกษได้ทำการหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องว่า ตามกฎหมายจะเป็นหน่วยงานไหนเข้ามาดำเนินการระหว่างกรมป่าไม้หรือว่ากรมชลประทาน แต่ว่าในเบื้องต้นจากการประชุมร่วมกันที่ผ่านมาระหว่างจังหวัดและทางชลประทานและหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง ทางกรมชลประทานเห็นว่า ก็น่าที่จะให้ทางกรมป่าไม้เป็นผู้ดำเนินการเพราะว่าทางกรมป่าไม้ก็ยืนยันว่าได้อนุญาตให้กรมชลประทานได้ดำเนินการในเรื่องการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำให้กับราษฎร ส่วนในเรื่องของการดำเนินการกับผู้บุกรุกตามกฎหมายนั้นก็จะต้องดูในเรื่องข้อกฎหมายอีกครั้งหนึ่ง  ผู้บุกรุกพื้นที่ทั้งหมดของอ่างเก็บน้ำห้วยสำราญนี้มีทั้งหมด 39  ราย บางรายอาจจะบุกรุกพื้นที่ 1 – 2 งาน หรือ 2 – 3  ไร่ เช่นบริเวณนี้มีการบุกรุกประมาณ  3 ไร่พื้นที่ทั้งหมดที่มีการบุกรุกประมาณ 40 ไร่เศษ ตนขอฝากถึงผู้บุกรุกทั้ง 39 รายทั้งกลุ่มนายทุนและกลุ่มราษฎรว่า  ทางชลประทานศรีสะเกษไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องของการแก้ไขปัญหาของราษฎร โดยใช้หลักรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ควบคู่กันไป ดังนั้นตรงนี้ต้องรับทราบถึงเรื่องของประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจริงกับเรื่องของกลุ่มนายทุนที่บุกรุก แต่ในเบื้องต้นทางชลประทานศรีสะเกษก็ได้ดำเนินการในแง่ของกฎหมายที่ได้มีการกำหนดไว้ไม่ว่าจะเป็นการแจ้งเตือนผู้บุกรุกหลายรายไปแล้ว จนกระทั่งจะได้มีการรื้อถอนต่างๆและเราดำเนินการตามกฎหมาย แต่ในเบื้องต้นทางชลประทานศรีสะเกษไม่มีนักกฎหมาย ก็ต้องส่งเรื่องไปให้กับกรมชลประทานดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ซึ่งตรงนี้ก็ขึ้นอยู่ที่ทางกรมชลประทาน จะต้องประสานงานกับกรมป่าไม้ต่อไป เพื่อดำเนินการกับผู้บุกรุกว่ามีกฎหมายรองรับอย่างไรบ้างในเบื้องต้นมี 2 – 3 วิธีด้วยกัน วิธีหนึ่งก็คือตามกฎหมายผู้บุกรุกต้องรื้อถอนอยู่แล้ว แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับกรมป่าไม้และกรมชลประทาน อาจจะมีระเบียบหรือข้อรองรับหรือไม่ที่จะให้กลุ่มผู้บุกรุกเช่า เป็นเรื่องที่ธนารักษ์จังหวัดที่จะต้องมาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งจะเป็นเรื่องของคณะกรรมการระดับจังหวัดและระดับกรมพิจารณาต่อไป







Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.