เช็กเลย ! 8 ช่องทางจ่าย "ค่าปรับตามใบสั่ง" หากค้างจ่าย ไม่ได้ป้ายภาษี เริ่มบังคับใช้ 1 เม.ย.นี้
21 ก.พ. 2566, 14:29
หลังจาก สำนักงานตำรวจแห่งชาติร่วมกับกรมการขนส่งทางบก ออกมาตรการ บังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก เพื่อลดการกระทำผิดกฎหมาย ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน โดยบังคับใช้มาตรการตามที่กำหนดในกฎหมายให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดทั้ง 2 หน่วยงาน จึงได้ร่วมกันกำหนดมาตรการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยจราจรทางบก จำนวน 2 มาตรการ ได้แก่
มาตรการที่ 1 การตัดคะแนนความประพฤติ ซึ่งได้เริ่มดำเนินการไปตั้งแต่ 9 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้กระทำผิดกฎจราจรและถูกตัดคะแนนแล้ว จำนวน 15,456 ราย
มาตรการที่ 2 คือมาตรการชะลอการออกเครื่องหมายแสดงการเสียภาษี สำหรับรถที่มีใบสั่งค้างชำระตาม 141/1 พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งทั้ง 2 หน่วยงานจะต้องมีการเชื่อมโยงข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องตามที่กฎหมายกำหนด เช่น ข้อมูลใบอนุญาตขับขี่ ข้อมูลยานพาหนะ และข้อมูลใบสั่งค้างชำระเพื่อให้เกิดการบูรณาการข้อมูลได้แบบ Real Time ทำให้การบังคับใช้กฎหมายเกิดผลสัมฤทธิ์ และมีประสิทธิภาพสูงสุด
จึงได้กำหนดให้มีการลงนาม บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ระหว่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมการขนส่งทางบก เชื่อมโยงข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก
สำหรับมาตรการชะลอเครื่องหมายแสดงการเสียภาษี จะใช้กับรถยนต์ที่ที่มีใบสั่งจราจรที่ค้างชำระ ซึ่งเพิกเฉยไม่ชำระค่าปรับตามที่กำหนด โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะส่งข้อมูลโดยระบบอิเล็กทรอนิกส์ไปยังนายทะเบียนกรมการขนส่งทางบก เมื่อประชาชนไปต่อภาษีรถยนต์ประจำปี นายทะเบียนจะรับต่อภาษีประจำปี แต่ยังไม่ได้รับเครื่องหมายแสดงการเสียภาษี (ป้ายภาษี) โดยจะได้หลักฐานชั่วคราวแทนป้ายภาษี ซึ่งมีอายุ 30 วัน เพื่อให้ผู้นั้นไปชำระค่าปรับที่ค้างชำระให้ครบถ้วนภายใน 30 วัน แล้วจึงสามารถมารับป้ายภาษีได้
แต่หากประชาชนต้องการจะชำระค่าปรับในขณะต่อภาษี กฎหมายกำหนดให้อำนวยความสะดวกแก่ประชาชนให้นายทะเบียนสามารถรับชำระค่าปรับตามใบสั่งพร้อมกับชำระภาษี และรับเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีได้เลยทันที ผบ.ตร. กล่าวเพิ่มเติมว่า การขับรถโดยไม่มีป้ายภาษี จะมีโทษตาม พ.ร.บ.รถยนต์ฯ มาตรา 11 ซึ่งกำหนดว่ารถยนต์คันที่ต่อภาษีแล้วจะต้องแสดงเครื่องหมายตามที่กรมการขนส่งกำหนดให้ครบถ้วน มีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท ทั้งนี้ ประชาชนสามารถตรวจสอบข้อมูลใบสั่งค้างชำระ และคะแนนความประพฤติได้ จากเว็บไซต์ E-ticket PTM และ แอปพลิเคชั่นขับดี
ทั้งนี้ จะเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2566 เป็นต้นไป โดยไม่มีผลย้อนหลัง
ล่าสุดเพจเฟซบุ๊ก ตำรวจสอบสวนกลาง ได้แนะนำ 8 ช่องทางชำระค่าปรับจราจร ดังนี้
1. ชำระค่าปรับที่ค้างชำระต่อนายทะเบียนที่กรมการขนส่งทางบก สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 - 5, สำนักงานขนส่งจังหวัด, สำนักงานขนส่งจังหวัดสาขา หรือตัวแทนผู้ให้บริการชำระภาษี ในขณะไปต่อป้ายภาษีประจำปีได้ทันที
2. สถานีตำรวจทุกแห่ง
3. ไปรษณีย์ทุกสาขา
4. ธนาคารกรุงไทยทุกสาขา
5. เคาน์เตอร์บริการที่มีสัญลักษณ์ PTM
6. ตู้เอทีเอ็มธนาคารกรุงไทย หรือตู้บุญเติม
7. แอปพลิเคชัน “ขับดี” หรือ แอปพลิเคชัน “กรุงไทย NEXT”
8. บัตรเครดิต ผ่านเว็บไซต์ E-Ticket : https://ptm.police.go.th/eTicket
ทั้งนี้ การฝ่าฝืนนำรถยนต์ที่ไม่มีป้ายภาษี หรือไม่มีการยื่นต่อภาษีรถยนต์ประจำปี มาใช้บนท้องถนน ผู้ขับขี่จะต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท และจะถูกตัดแต้มใบขับขี่ 1 คะแนน