นายกฯ ย้ำ! รัฐบาลขับเคลื่อนการลงทุน ดูแลภาคการท่องเที่ยว การใช้จ่ายในประเทศเต็มที่ ชี้ต้องรักษาเศรษฐกิจไทยให้เข้มแข็ง
18 ก.พ. 2566, 09:48
วันนี้ 18 ก.พ. 66 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้รับรายงานจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) หรือสภาพัฒน์ ถึงข้อมูลเศรษฐกิจปี 65 ที่ขยายตัวได้ร้อยละ 2.6 โดยในไตรมาสสุดท้ายของปี65 ข้อมูลได้ชี้ให้เห็นผลกระทบจากความผันผวนของเศรษฐกิจต่างประเทศที่ชัดเจน
โดยนายกรัฐมนตรีย้ำว่าแม้จะเป็นช่วงปลายของรัฐบาลและกำลังจะเข้าสู่การเลือกตั้งแต่รัฐบาลยังคงให้ความสำคัญกับการทำหน้าที่เพื่อดูแลเศรษฐกิจภายในประเทศให้เข้มแข็ง สามารถรับกับผลความผันผวนและความไม่แน่นอนสูงของเศรษฐกิจโลก ทั้งการติดตามเร่งรัดขับเคลื่อนการการลงทุนในโครงการต่างๆ ที่ผ่านการอนุมัติ มีการผูกพันงบประมาณตามขั้นตอนไปแล้วให้ดำเนินไปตามแผนงาน เบิกจ่ายงบประมาณทั้งรายจ่ายประจำและลงทุนให้เป็นไปตามเป้าหมาย โดยในปีงบประมาณ 66 มีงบประมาณที่เป็นงบลงทุนถึง 6.64 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.8 จากปี 65 ที่พร้อมจะถูกผลักดันเข้าไปหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ
รวมถึงสนับสนุนให้เอกชนที่ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนเริ่มการลงทุนให้เร็วที่สุด โดยในปี 65 ที่ผ่านไปสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) ได้การออกบัตรส่งเสริมซึ่งหมายถึงโครงการที่พร้อมจะลงทุนสูงถึง 1,490 โครงการ มูลค่า 489,088 ล้านบาท ตลอดจนให้ความสำคัญกับการดำเนินนโยบายที่เอื้อต่อการบริโภคและใช้จ่ายในประเทศให้ขยายตัวได้ต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรียังเน้นย้ำว่ารัฐบาลให้ความสำคัญอย่างมากกับการการรักษาแรงส่งของภาคการท่องเที่ยวที่ขณะนี้กำลังฟื้นตัวได้ดี โดยเร่งแก้ไขในจุดที่ยังเป็นปัญหา ให้เกิดความพร้อมรองรับการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยดำเนินการไปพร้อมกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ
“นายกรัฐมนตรีกำชับให้ทุกหน่วยงานดูแลเรื่องการเบิกจ่ายการลงทุนให้เป็นไปตามเป้าหมาย เพราะเม็ดเงินจากภาครัฐจะมีส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยข้อมูลของ สศช. ชี้ให้เห็นว่าพื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังแข็งแกร่ง ปี 66 ยังมีปัจจัยบวกทั้งการท่องเที่ยว การลงทุนรัฐ เอกชน การบริโภคในประเทศ หากขับเคลื่อนทุกส่วนเป็นไปตามเป้าหมายเศรษฐกิจไทยก็ยังสามารถเติบโตได้แม้อยู่ในช่วงรอยต่อของการเลือกตั้ง” น.ส.ไตรศุลี กล่าว
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า สำหรับกรณีที่มีข้อกังวลว่าระหว่างมีการเลือกตั้งและรอการจัดตั้งรัฐบาลชุดถัดไปอาจจะส่งผลให้กระบวนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 67 และการเริ่มมีผลบังคับของ พ.ร.บ.งบฯ ปี 67 ล่าช้ากว่ากรอบเวลาปกตินั้น กรณีจะไม่กระทบต่องบประมาณรายจ่ายประจำและงบประมาณที่เป็นส่วนดูแลสวัสดิการกลุ่มเปราะบางต่างๆ เนื่องจาก พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ ได้กำหนดไว้ว่าหากเกิดกรณีล่าช้าให้สามารถใช้งบประมาณของปีก่อนหน้าไปพลางก่อนตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณกำหนด ดังนั้นแม้จะมีความล่าช้าของ พ.ร.บ.งบฯปี 67 ส่วนของงบรายจ่ายประจำก็ไม่มีปัญหาสะดุดแต่อย่างใด