ครม.เห็นชอบ เตรียมเก็บค่าเหยียบแผ่นดิน เริ่ม 1 มิ.ย.66
17 ก.พ. 2566, 17:14
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้ออกมาเปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบจัดเก็บค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวภายในประเทศของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ (Thailand Traveller Fee : TTF) หรือค่าเหยียบแผ่นดิน ซึ่งคาดว่าจะมีผลในวันที่ 1 มิถุนายน 2566 เป็นต้นไป
ค่าเหยียบแผ่นดิน คือ การเก็บค่าธรรมเนียมเข้าประเทศ หรือ ค่าบริหารการจัดการค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยว การจัดเก็บค่าเหยียบแผ่นดินนั้นจะเป็นการเก็บเงินจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยทั้งทางเรือและทางอากาศ ในปัจจุบันมีการเก็บค่าเหยียบแผ่นดินกว่า 40 ประเทศทั่วโลก ซึ่งมีรูปแบบต่างๆและอัตราที่ต่างกัน ซึ่งในประเทศไทยการจัดเก็บจะรวมอยู่ในราคาตั๋วเครื่องบิน หรือราคาห้องพัก โดยไม่มีการจ่ายแยกต่างหาก
อัตราจัดเก็บค่าธรรมเนียม
- ช่องทางทางอากาศ 300 บาทต่อคน
- ช่องทางทางบกและน้ำ 150 บาทต่อคน
เหตุผลที่ต้องเก็บค่าเหยียบแผ่นดิน
- ส่งเสริมการท่องเที่ยวและเป็นทุนหมุนเวียนในการพัฒนาการท่องเที่ยวภายในประเทศ
- ใช้ดูแลเยียวยานักท่องเที่ยว จัดให้มีการประกันภัยเพื่อคุ้มครองอุบัติเหตุให้แก่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติระหว่างการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ
- ใช้ในการบริหารด้านสาธารณสุขกับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ
- ดูแล แก้ไข และพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่เกิดความเสื่อมโทรมลงจากการท่องเที่ยว
คนที่ต้องจ่ายค่าเหยียบแผ่นดิน คือ ชาวต่างชาติที่ไม่ใช่สัญชาติไทยและชาวต่างชาติที่ถือวีซ่าท่องเที่ยว ส่วนผู้ที่ได้รับการยกเว้น ไม่ต้องจ่ายค่าเหยียบแผ่นดิน คือ
- ผู้ถือพาสปอร์ตชาวไทย
- ชาวต่างชาติที่ถือพาสปอร์ตประเภท Diplomat (หนังสือเดินทางทูต), Official (หนังสือเดินทางราชการ, และ พาสปอร์ตประเภท Work Permit (ใบอนุญาตทำงาน) กรณีผู้ถือ Work Permit ต้องใส่เลขใบอนุญาตการทำงานกำกับไว้ด้วย
- ทารกและเด็กอ่อนอายุไม่เกิน 2 ปี
- รายละเอียดอื่น ๆ จะเป็นไปตามที่กระทรวงกำหนด
นอกจากจะกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมข้างต้นแล้วยังได้กำหนดกรอบเวลาของการบังคับใช้ ซึ่งจะมีผลบังคับเมื่อพ้น 90 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา, การกำหนดบทนิยามต่างๆ ให้ชัดเจน, กำหนดวิธีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมโดยทางอากาศยานให้จัดเก็บผ่านค่าโดยสารเครื่องบิน ส่วนทางบกและทางน้ำเก็บผ่านเว็บไซต์ โมบายแอปพลิเคชัน และตู้ให้บริการชำระค่าธรรมเนียม (Kiosk)