ไทยร่วมเวทีประชุมสมาคมแห่งมหาสมุทรอินเดีย (IORA) ผลักดันความเท่าเทียมทางเพศ
23 พ.ย. 2565, 08:46
วันนี้(23 พ.ย. 65) นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 ว่า ครม.เห็นชอบร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมสภารัฐมนตรีสมาคมแห่งมหาสมุทรอินเดีย ครั้งที่ 22 ที่จะมีการจัดประชุมขึ้นในวันที่ 24 พิฤศจิกายน 2565 ณ กรุงธากา บังกลาเทศ โดยที่ประชุมจะมีการรับรองร่งแถลงการณ์ธากา (Dhaka Communique) ซึ่งเป็นเอกสารผลลัพธ์ของการประชุม มีสาระสำคัญ อาทิ
1.รับทราบผลการดำเนินงานของกลไกต่างๆ ภายใต้สมาคมแห่งมหาสมุทรอินเดีย เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 และการแก้ไขปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาทิ 1)การจัดทำกรอบยุทธศาสตร์ของอินโดนีเซียในการดำเนินการด้านขยะทะเลในมหาสมุทรอินเดีย และการพัฒนาแนวปฏิบัติเพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าประมงผิดกฎหมายเข้ามาในห่วงโซ่อุปทานของประเทศสมาชิก IORA ของฝรั่งเศส 2)การลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างสมาคมแห่งมหาสมุทรอินเดีย (Indian Ocean Rim Association: IORA) กับองค์กรต่าง ๆ เพื่อยกระดับความร่วมมือในสาขาที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน เช่น พันธมิตรเพื่อโครงสร้างพื้นฐานที่ยืดหยุ่นต่อภัยพิบัติ (Coalition for Disaster Resilient Infrastructure: CDRI) องค์กรพื้นทะเลระหว่างประเทศ (ISA) และคณะกรรมาธิการมหาสมุทรอินเดีย (IOC) 3)การขยายระยะเวลาบันทึกความเข้าใจกับศูนย์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (NAM S&T Center) ออกไปอีก 3 ปี
2.รับทราบการรับรองคำมั่นว่าด้วยความเท่าเทียมทางเพศของสมาคมแห่งมหาสมุทรอินเดียในวันสตรีสากล ค.ศ.2022 ซึ่งตระหนักถึงแนวปฏิบัติสากลเพื่อความเท่าเทียมทางเพศที่มีการตั้งเป้าหมายอัตราส่วนผู้หญิงต่อผู้ชาย 40:40:20 ประกอบด้วยผู้หญิงอย่างน้อยร้อยละ40 ผู้ชายร้อยละ 40 โดยร้อยละ 20 เป็นผู้หญิงหรือผู้ชายก็ได้ เพื่อส่งเสริมให้ผู้หญิงมีบทบาทเท่าเทียมกับผู้ชายในมิติต่าง ๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม รวมไปถึงบทบาทในการบริหารองค์กรในทุกระดับ
3.รับรองซาอุดีอาระเบียเป็นหุ้นส่วนคู่เจรจา ลำดับที่ 11 ของสมาคมฯ โดยเชื่อมั่นว่าซาอุดีอาระเบียจะมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมให้ IORA บรรลุเป้าหมายในระดับภูมิภาคตามหลักการและวัตถุประสงค์ของกฎบัตร IORA
ทั้งนี้ สมาคมแห่งมหาสมุทรอินเดีย (IORA) จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2538 มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือและการพัฒนาอย่างยั่งยืนในภูมิภาคมหาสมุทรอินเดีย ปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 23 ประเทศ ได้แก่ ฝรั่งเศส คอโมโรส เซเซลส์ ออสเตรเลีย อินเดีย แอฟริกาใต้ เคนยา สิงคโปร์ โอมาน มัลดีฟส์ โซมาเลีย มอริเชียส อินโดนีเซีย มาดากัสการ์ มาเลเซีย โมซัมบิก ศรีลังกา แทนซาเนีย เยเมน บังกลาเทศ อิหร่าน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และไทย และประเทศหุ้นส่วนคู่เจรจา 10 ประเทศ ได้แก่ จีน อียิปต์ เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น เกาหลี รัสเซีย ตุรกี สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา ครอบคลุมสาขาความร่วมมือ 6 สาขา ได้แก่ 1) ความปลอดภัยและมั่นคงทางทะเล 2)จัดการประมง 3)การอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุน 4)การจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติ 5)การแลกเปลี่ยนด้านการท่องเที่ยวและวัฒนธรรม และ 6) ความร่วมมือด้านวิชาการ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี
นางสาวรัชดา กล่าวด้วยว่า การดำเนินการตามร่างแถลงการณ์ธากาสอดคล้องกับนโยบายการต่างประเทศของไทยที่มุ่งเน้นการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบของโรคโควิด-19 และการส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์กับประเทศสมาชิกสมาคมแห่งมหาสมุทรอินเดียและประเทศคู่เจรจา ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการเสริมสร้างเศรษฐกิจ และสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืนของไทย โดยเฉพาะประเด็นที่ไทยให้สำคัญ ได้แก่ การพัฒนาเศรษฐกิจภาคทะเล การสร้างความเชื่อมโยงทางทะเล การทำประมงอย่างยั่งยืน และการส่งเสริมบทบาททางเศรษฐกิจของสตรี