"ทีมสัตวแพทย์" สำนักฯ3 (บ้านโป่ง) เฝ้ารักษาแผลเน่าลูกช้างป่าสลักพระ เข้าสู่วันที่สี่ พบถ่ายเองได้แต่มีลักษณะนิ่ม
18 ส.ค. 2565, 12:00
ความคืบหน้ากรณีเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ พบช้างปาเพศผู้อายุ 2-3 ปี เดินอยู่ภายในสวนยางพาราของชาวบ้าน ท้องที่ หมู่ 1 ต.ด่านแม่แฉลบ อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี โดยช้างป่าได้รับบาดเจ็บเป็นแผลเน่าเปื่อยขนาดใหญ่ที่บริเวณโคนหาง หลังจากที่นายอนันต์ โพธิ์พันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง)ได้รับรายงาน จึงมอบหมายให้นายสิขกพงษ์ กระแจะจันทร์ ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สบอ.3 (บ้านโป่ง) นายไพฑูรย์ อินทรบุตร หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ
พร้อมด้วย สพ.ญ.ลักษณา ประสิทธิชัย นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ สพ.ญ.กนกวรรณ ตรุยานนท์ นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ สพ.ญ.ณฐนน ปานเพ็ชร นายสัตวแพทย์ปฏิบัติการ สบอ.3 (บ้านโป่ง) รวมทั้งทีมสัตวแพทย์ประจำเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวากและศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก จ.สุพรรณบุรี เข้าทำการรักษาช้างป่าตัวดังกล่าวมาตั้งแต่วันที่ 15 ส.ค.ที่ผ่านมา ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้ว
ล่าสุดเมื่อเวลา 10.20 น.วันนี้ 18 ส.ค.65 ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า นายไพฑูรย์ อินทรบุตร หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการรักษาว่า เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ พร้อมทีมสัตวแพทย์ สัตวบาล สอส.สบอ.3 (บ้านโป่ง) สัตวแพทย์ประจำเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวากและศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก ได้เฝ้าระวังและทำการรักษาช้างป่า ตัวดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องทุกวัน
ซึ่งช้างตัวดังกล่าวสามารถยืนและเดินเองได้ เจ้าหน้าที่จึงได้วางแผนด้วยการใช้กล้วยหลอกล่อให้ช้างไปยืนอยู่ใกล้กับต้นไม้ใหญ่ เพื่อง่ายต่อการรักษา จากนั้นให้เจ้าหน้าที่ปีนขึ้นไปแล้วพ่นยาลงมาเพื่อรักษาบาดแผลที่เน่าเปื่อย นอกจากนี้ยังให้กินยาลดอาการปวด ลดอาการอักเสบ กินวิตามิน โปรตีนรวม วิตามินซี และเกลือแร่ที่เป็นก้อนแล้วนำมาทุบให้ละเอียด การรักษาจะทำใน 2 ช่วงเวลา คือเวลา 10.00 น. และ เวลา 16.00 น.
สำหรับอาหารที่นำมาให้ช้างป่านั้นเป็นอาหารประเภทกล้วยสุกและหญ้า และน้ำ ซึ่งปรากฏว่าช้างไม่ยอมกินหญ้า โดยชอบกินแต่กล้วยสุกเท่านั้น จะสังเกตได้ว่า ช้างสามารถขับถ่ายได้แต่มีลักษณะนิ่ม ซึ่งอาจจะเป็นเพราะช้างกินกล้วยสุกมากเกินไป โดยทีมสัตวแพทย์ สัตวบาล จะยังคงเฝ้าติดตามและรักษาไปอย่างต่อเนื่อง
ส่วนสาเหตุที่ทำให้ลูกช้างป่าได้รับบาดเจ็บนั้น เบื้องต้นคาดว่าลูกช้างป่าตัวดังกล่าวอาจจะถูกช้างตัวใหญ่ทำร้ายด้วยการใช้งาแทงจนได้รับบาดเจ็บ ทำให้ไม่สามารถเดินตามโขลงช้างทัน เป็นเหตุทำให้ลูกช้างตัวดังกล่าวต้องเดินออกมาหากินนอกพื้นที่ จนเจ้าหน้าที่และชาวบ้านมาพบ จึงเข้าให้ความช่วยเหลือในการรักษา สำหรับบาดแผลที่เน่าเปื่อยนั้น คาดว่าจะถูกช้างป่าทำร้ายมานานประมาณไม่ต่ำกว่า 1-2 เดือน