นายกฯ แจงจัดสรรงบฯ ตามสถานการณ์ ย้ำการกู้เงินล้วนเพื่อดูแลช่วยเหลือช่วงโควิด-19
2 มิ.ย. 2565, 18:24
วันนี้ ( 2 มิ.ย.65 ) นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า ณ ห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร อาคารรัฐสภา ถนนสามเสน เขตดุสิต กรุงเทพฯ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โดยนายกรัฐมนตรียืนยันว่ายินดีรับฟังความคิดเห็นของสมาชิกทุกคน ซึ่งหลายอย่างต้องให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องได้ชี้แจงในรายละเอียด จึงขอชี้แจงให้รับทราบอีกครั้งในภาพรวมว่า งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 เป็นแหล่งเงินประเภทหนึ่งของการทำนโยบายรัฐบาล หากมองเฉพาะรายการที่ปรากฏตามเอกสาร และตัดสินเลยว่ารัฐบาลไม่ทำอะไร หรือประเทศเราไม่ได้อะไรนั้น นายกรัฐมนตรีชี้แจงว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ทำงานโดยใช้แหล่งเงินหลายอย่าง บางเรื่องรัฐบาลใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีที่พิจารณาในช่วงเวลานี้มาดำเนินการ บางเรื่องรัฐบาลใช้เงินกู้ดำเนินการ บางเรื่องใช้เงินรายได้รัฐวิสาหกิจ หรือเงินนอกงบประมาณดำเนินการ โครงการลงทุนส่วนใหญ่ที่ไม่ปรากฏอยู่ในงบประมาณรายจ่ายประจำปีนั้น รัฐบาลจะดำเนินการโดยการร่วมลงทุนภาครัฐและเอกชน (PPP) ซึ่งมีความก้าวหน้ามาตามลำดับ
โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวสรุปให้เห็นภาพว่า แม้ว่าใช้งบประมาณขาดดุล หรือมีการกู้เงินในช่วงนี้ จำนวนหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งมาจากเงินกู้ 1.5 แสนล้านบาท เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนจากสถานการณ์โควิด-19 หากไม่ต้องใช้ยอดนี้มาดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน หนี้สาธารณะคงไม่สูงถึง 60 เปอร์เซ็นต์
โดยรัฐบาลได้สานต่อนโยบายการส่งเสริม 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2558 ใช้งบประมาณมาตามลำดับ โดยการต่อยอด-ยกระดับ 5 อุตสาหกรรมเดิมที่ไทยมีศักยภาพ และการต่อยอด 7 อุตสาหกรรมใหม่ (New S-curve) ที่เป็นแนวโน้มของโลกในอนาคต ได้แก่ หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม การบินและโลจิสติกส์ เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ ดิจิทัล การแพทย์และสุขภาพครบวงจร การป้องกันประเทศ การพัฒนาบุคลากรและการศึกษาเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ เพื่อทำให้ประเทศไทยสามารถสร้างฐานรายได้และการจ้างงานใหม่ รวมทั้งการขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนในเวทีโลก
ในส่วนของ EEC ยืนยันว่า EEC ทำให้เกิดการกระจายรายได้ การจ้างงาน ให้กับผู้ประกอบการรายย่อย SME ร้านค้า ชุมชน ต่าง ๆ เป็นวงกว้าง ทั้งในระดับฐานรากไปจนถึงระดับประเทศ อาทิ (1) สร้างโอกาสงานแก่เยาวชนหญิง-ชาย วุฒิอาชีวศึกษา-ปริญญาตรี-โท-เอก ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เชิงอุตสาหกรรมท่องเที่ยวกว่า 17,000 ตำแหน่ง, อุตสาหกรรมดิจิทัล 116,000 กว่าตำแหน่ง, อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ 58,000 กว่าตำแหน่ง, อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร 11,000 กว่าตำแหน่ง, อุตสาหกรรมยานยนต์อนาคต 53,000 กว่าตำแหน่ง, อุตสาหกรรมระบบราง 24,000 กว่าตำแหน่ง, อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อีกมากกว่า 140,000 ตำแหน่ง (2) การจ้างงาน “ภาคธุรกิจ” ไม่น้อยกว่า 100,000 อัตราใน 5 ปี “ภาคแรงงานการก่อสร้าง” ไม่น้อยกว่า 16,000 อัตรา (3) สร้างผลตอบแทนกลับมาในรูปแบบส่วนแบ่งรายได้และภาษี จากโครงสร้างพื้นฐาน 4 สำคัญ ทั้งรถไฟความเร็วสูง-สนามบิน-ท่าเรือ เช่น สนามบินอู่ตะเภา เพิ่มรายได้รัฐเข้าประเทศมากกว่า 3 แสนล้านบาท สร้างงานเพิ่มกว่า 15,600 ตำแหน่งใน 5 ปี เป็นต้น
โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เกิดขึ้นเพื่อเป็นพื้นที่ การลงทุนและแหล่งบ่มเพาะ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ โครงการโครงสร้างพื้นฐานของ EEC ได้รับการพัฒนาแบบบูรณาการ เพื่อเป็นประตูสำคัญ ที่เชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ของไทย ทั้งทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ ในการเชื่อมโยงกับประเทศต่าง ๆ ทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียแปซิฟิก นอกจากนี้ มีการพัฒนา “เมืองแห่งนวัตกรรม” หรือเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) ให้เป็น “ซิลิคอนวัลเลย์” ของเมืองไทย และ “เมืองใหม่อัจฉริยะด้วยนวัตกรรม” หรือเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) ปัจจุบันการดำเนินงานมีความก้าวหน้าตามลำดับ
สิ่งที่รัฐบาลได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องคือ การเตรียมความพร้อมการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน “ทั่วประเทศ” ก็ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เกิดการลงทุนจริง เชื่อมโยงแต่ละภาคของประเทศ และเชื่อมต่อภูมิภาคอาเซียน ทุกทิศทาง ได้แก่ ทางถนน ในปี 2557 มีเส้นทางหลัก 4,271 กิโลเมตร ปี 2564 เพิ่มเป็น 11,583 กิโลเมตร มอเตอร์เวย์ สร้างเพิ่ม 3 เส้นทางสำคัญ คือ บางปะอิน-โคราช บางใหญ่-กาญจนบุรี และพัทยา-มาบตาพุด ทางราง รถไฟฟ้า (กทม.และปริมณฑล) สร้างเพิ่ม 10 สาย ระยะทางรวม 204.9 กิโลเมตร อยู่ระหว่างการพิจารณาอีก 2 สาย นอกจากนี้ ยังมีรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ โดยเป็นไปตามกำหนดการที่วางไว้ รวมถึงสถานีกลางบางซื่อที่จะเป็นชุมทางรถไฟขนาดใหญ่ ทันสมัยที่สุด ในอาเซียน เพื่อเชื่อมโยงรถไฟทางไกล-รถไฟความเร็วสูง–รถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ–รถไฟชานเมือง–สถานี บขส. และสนามบิน ทางน้ำ ทางน้ำ รัฐบาลได้เตรียมการเพิ่มศักยภาพรองรับปริมาณการขนส่งทางน้ำ จากเดิมปี 2557 ประมาณ 279 ล้านตัน ปี 2564 เพิ่มเป็น 355 ล้านตัน โดยพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด และท่าเรือแหลมฉบัง เปิดเดินเรือเฟอร์รี่ “พัทยา-หัวหิน” ใช้เวลา 2 ชั่วโมง เพื่อเชื่อมแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ละลดเวลาในการเดินทาง ในทางอากาศ มีการปรับปรุงสนามบินทั่วประเทศ เพิ่มศักยภาพการรองรับผู้โดยสาร จากเดิมปี 2557 รองรับ 118 ล้านคน ในปี 2564 เพิ่มเป็น 139 ล้านคน และจะเพิ่มขึ้นต่อไป