นายกฯ หารือผู้ว่าการ JBIC และประธานสมาพันธ์ธุรกิจฯ ผลักดันความร่วมมือกับภาคเอกชน เน้นย้ำความพร้อมของไทยสู่ฐานการลงทุนในภูมิภาค
27 พ.ค. 2565, 10:32
วันนี้ (27 พฤษภาคม 2565) เวลา 10.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นประเทศญี่ปุ่น ณ ห้อง Salon โรงแรมอิมพีเรียล โตเกียว กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ร่วมหารือกับนายมาเอดะ ทาดาชิ ผู้ว่าการธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JBIC) และนายมุราอิ ฮิเดกิ ที่ปรึกษาพิเศษนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวยินดีที่ได้พบกับผู้ว่าการ JBIC อีกครั้ง หลังจากที่เพิ่งได้พบกันที่ประเทศไทยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งตามที่ JBIC ได้แจ้งถึงเป้าหมายของรัฐบาลญี่ปุ่นในการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน ที่สอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจ BCG ของไทย และชื่นชม ผู้ว่าการ JBIC เป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ของญี่ปุ่น ที่มีส่วนสำคัญในร่างนโยบายที่เน้นการกระจายรายได้ควบคู่กับการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นนโยบายที่นายกรัฐมนตรีให้ความสนใจ และหวังว่าจะได้ร่วมมือกับญี่ปุ่น
ด้านผู้ว่าการ JBIC กล่าวว่า ยินดีและเป็นเกียรติที่ได้พบนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง ทั้งสองประเทศมีความร่วมมือที่มีศักยภาพ และเป็นรูปธรรมในหลากหลายสาขา โดยหลังจากที่ได้พบหารือกับนายกรัฐมนตรีไทยและกลับมาที่ญี่ปุ่น ผู้ว่าการ JBIC ได้ประชุมและสานต่อสิ่งที่ได้หารือกับนายกรัฐมนตรีไว้ และยังได้ยืนยันความพร้อมที่จะร่วมมือกับไทยในทุกระดับ รวมถึงพร้อมสนับสนุนการเป็นประธาน APEC 2022 ของไทย
ทั้งสองฝ่ายต่างเชื่อมั่นในความเป็นพันธมิตรที่สำคัญของไทยและญี่ปุ่น นายกรัฐมนตรี จึงหวังว่าญี่ปุ่นจะสนับสนุนไทยในสาขาความร่วมมือต่างๆ โดยไทยมีที่ตั้งอยู่ศูนย์กลางอาเซียน จึงอยากให้ไทยมีความเข็มแข็ง โดยเฉพาะทางเศรษฐกิจ เพื่อที่จะได้ร่วมดูแลประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนให้เติบโตและเข้มแข็งไปด้วยกัน
จากนั้นในเวลา 10.30 น. นายกรัฐมนตรีพบหารือกับนายโทคุระ มาซาคาสึ ประธานสมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น (เคดันเรน) และนายซูซูกิ โยชิฮิสะ ประธานคณะกรรมการการค้าและเศรษฐกิจไทย - ญี่ปุ่น ภายใต้เคดันเรน สรุปสาระสำคัญดังนี้
นายกรัฐมนตรียินดีที่ได้พบกับประธานสมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่นและประธานคณะกรรมการการค้าและเศรษฐกิจไทย - ญี่ปุ่นในโอกาสเยือนญี่ปุ่นครั้งนี้ ภาคเอกชนถือเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนความร่วมมือที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกันของสองฝ่าย โดยรัฐบาลไทยหวังที่จะร่วมมือกับเคดันเรนอย่างใกล้ชิด เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและกิจกรรมทางธุรกิจระหว่างไทยกับญี่ปุ่นต่อไป โอกาสนี้นายกรัฐมนตรีได้กล่าวขอบคุณ และเห็นพ้องว่า ทั้งสองฝ่ายต้องมีความร่วมมือที่แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น โดยทั้งสองฝ่ายยังมีศักยภาพอีกมาก เพื่อเตรียมการไว้รองรับหากเกิดความท้าทายใหม่เกิดขึ้นในอนาคตอีก
ด้านเคดันเรนกล่าวว่า เคดันเรนได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อส่งเสริมความร่วมมือของภาคเอกชนไทย-ญี่ปุ่น โดยมีบริษัทเข้าร่วมกว่า 70 บริษัท ภาคธุรกิจยินดีที่ไทยและญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น ไทยเป็นฐานสำคัญของญี่ปุ่นในอาเซียน และความตกลง RCEP มีส่วนส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจจึงหวังว่าความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างกันจะแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น ยิ่งไปกว่านี้ ไทยยังถือเป็นส่วนนึ่งของ supply chain ที่สำคัญ การส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างกัน โดยเฉพาะการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การแลกเปลี่ยนบุคลากร เทคโนโลยีในช่วงของความท้าทายต่างๆ ในปัจจุบันจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง
ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องว่าโลกกำลังเผชิญกับความท้าทายหลายประการ การมีการค้าที่อิสระ เปิดกว้าง และเป็นธรรมจึงมีความสำคัญมาก โดยภาคเอกชนญี่ปุ่นยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ไทยเข้าร่วม IPEF นอกจากนี้ทั้งสองฝ่ายยังยินดีและเห็นพ้องที่จะแลกเปลี่ยนความรู้ ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในด้านการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการแพร่ระบาดของโควิด-19
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียินดีที่ได้ทราบว่า คณะกรรมการการค้าและเศรษฐกิจไทย - ญี่ปุ่นของเคดันเรน ซึ่งมีสมาชิกกว่า 70 บริษัท มีแผนจะเยือนไทย โดยเชื่อมั่นในภาคเอกชนซึ่งถือว่าเป็นส่วนสำคัญในการกำหนดทิศทางโลก และเชื่อมั่นในความสำคัญของเคดันเรน