"บิ๊กตู่" พอใจบริหารจัดการน้ำประเทศ ใช้งบคุ้มค่า เพิ่งแหล่งน้ำกว่า 2.6 หมื่นแห่ง
3 เม.ย. 2565, 17:38
วันนี้ (3 เม.ย.65) นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบของประเทศอย่างต่อเนื่องใกล้ชิด พอใจผลการดำเนินงานพัฒนาและบริหารจัดน้ำอย่างเป็นระบบภายใต้งบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ในการแก้ไขปัญหาเชิงการป้องกันภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้น ทั้งการบรรเทาผลกระทบภัยแล้ง ป้องกันน้ำท่วม และคุณภาพน้ำ ซึ่งตลอด 2 ปีที่ผ่านมา (ปี 2563 – 2564) รัฐบาลได้มีการบูรณาการทุกหน่วยงานด้านน้ำโดยสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นหน่วยงานกลางในการบูรณาการพิจารณาแผนงาน/โครงการของหน่วยงานต่าง ๆ สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพในการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก ระบบกระจายน้ำเพื่อสนับสนุนน้ำอุปโภค-บริโภค ตลอดจนการเกษตรครอบคลุมทั้งประเทศ รวม 26,830 แห่ง เช่น การขุดเจาะบ่อบาดาล แหล่งน้ำสำรองเพื่อผลิตน้ำประปา ก่อสร้างฝายและสระเก็บน้ำเพื่อการเกษตร ขุดลอกคลอง และกำจัดวัชพืช เป็นต้น
นายธนกรกล่าวว่า สำหรับโครงการพัฒนาแหล่งน้ำต่าง ๆ ภายใต้งบกลาง ปี 2563 มีทั้งสิ้น 20,795 แห่ง ซึ่งทุกแห่งได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว ส่งผลให้ปริมาณน้ำเก็บกักเพิ่มขึ้น เกิดประโยชน์กับประชาชนและเกิดการจ้างแรงงานกว่า 184,000 ราย ส่วนงบกลาง ปี 2564 มีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำรวม 6,035 แห่ง เน้นรองรับสถานการณ์ฝนตกน้อยและความต้องการใช้น้ำเพิ่มสูงขึ้นจากการอพยพกลับภูมิลำเนาเดิมของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 เพื่อประกอบอาชีพเกษตรกรรม ล่าสุดดำเนินการแล้วเสร็จ 3,642 แห่ง และอยู่ระหว่างดำเนินการ 2,441 แห่ง ซึ่งรัฐบาลโดย สทนช. มีการติดตามความก้าวหน้าและเร่งดำเนินการเพื่อให้แล้วเสร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ทั้งนี้ คาดว่าหากโครงการทั้งหมดแล้วเสร็จ จะสามารถทำให้เก็บกักน้ำในช่วงฤดูฝนเพื่อใช้ประโยชน์ในช่วงหน้าแล้งได้รวม 742 ล้าน ลบ.ม. อีกทั้งยังสามารถนำน้ำบาดาลมาใช้ได้ถึง 91 ล้าน ลบ.ม. และมีน้ำดิบผลิตประปาได้อีก 62 ล้าน ลบ.ม. ส่งผลให้เกิดประโยชน์โดยตรงกับประชาชนถึง 3.65 ล้านครัวเรือน ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 7.5 ล้านไร่
“นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2565 ยังได้มีมติอนุมัติงบกลางฯ เพื่อพัฒนาโครงการรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ปี 2565 รวม 2,525 แห่ง ซึ่งคาดว่าหากดำเนินการแล้วเสร็จ จะสามารถช่วยป้องกันและลดผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งได้ รวมทั้งเพิ่มการลงทุนภาครัฐและจ้างแรงงานคนในท้องถิ่นด้วย” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าว