"อาจารย์" ม.มหิดล เผย! ผลการวิจัยพบ "สมุนไพรพื้นบ้าน" 7ชนิด มีฤทธิ์ต้านวัชพืช
31 มี.ค. 2565, 08:42
วันนี้ 30 มี.ค.65 ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า อาจารย์ ดร.ประไพพิศ สุวิทย์ชยานนท์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์การเกษตร มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี เปิดเผยผลการวิจัย เรื่อง “ สมุนไพรพื้นบ้านกับฤทธิ์ต้านวัชพืช “ ได้พบว่าจากปรากฏการณ์ อัลลีโลพาธี (Allelopathy)
ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่พืชชนิดหนึ่งมีการปลดปล่อยสารที่เรียกว่า allelochemicals ออกมาด้วยวิธีการระเหยทางใบ การถูกชะล้างด้วยน้ำฝน การปลดปล่อยจากรากพืช และจากการย่อยสลายเศษซากพืชชนิดนั้นโดยจุลินทรีย์ สารที่ถูกปลดปล่อยสู่สภาพแวดล้อมนี้มีฤทธิ์ทั้งส่งเสริมการเจริญเติบโตและยับยั้งการเจริญเติบโตของพืชชนิดอื่นที่อยู่บริเวณเดียวกัน ทั้งนี้การใช้ประโยชน์ในด้านการยับยั้งการเจริญเติบโตของพืชชนิดอื่นได้รับความสนใจในการศึกษาและวิจัยเพื่อพัฒนาเป็นสารยับยั้งวัชพืชจากธรรมชาติ ตามหลักเกษตรปลอดภัย
ประเทศไทยมีความหลายหลายของทรัพยากรทางชีวภาพสูง อุดมไปด้วยพืชที่มีคุณสมบัติทางการรักษาในทางการแพทย์ เครื่องสำอาง รวมถึงอาหารและการเกษตร สารออกฤทธิ์ชนิดต่าง ๆ จะถูกผลิตขึ้นเมื่อพืชอยู่ในสภาวะที่เหมาะสมต่อการผลิต การศึกษาฤทธิ์ของพืชสมุนไพรที่มีลักษณะการเจริญในสภาพธรรมชาติเป็นกลุ่ม (colony) หรือมีการเจริญของพืชชนิดอื่นร่วมด้วยน้อย อาจเกี่ยวข้องกับความสามารถในการผลิตสารออกฤทธิ์บางชนิดที่สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของพืชอื่นได้ งานวิจัยนี้จึงมุ่งศึกษาคุณสมบัติด้านการยับยั้งการเจริญเติบโตของพืชชนิดอื่นจากพืชสมุนไพรพื้นบ้านเพื่อประโยชน์ในการประยุกต์ใช้เป็นสารสกัดจากธรรมชาติที่สามารถยับยั้งการเจริญโตของวัชพืชต่อไป ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาระบบเกษตรปลอดภัยอย่างยั่งยืน
จากผลการทดลอง พืชสมุนไพรพื้นบ้าน ได้แก่ ตะไคร้หอม ผลดีปลี หญ้าหนวดแมว กะเพรา มะระขี้นก ผักเผ็ด และผักคาวตอง มีแนวโน้มนำไปสู่การต่อยอดทดสอบความสามารถในการยับยั้งการเจริญเติบโตของวัชพืชเพื่อใช้เป็นสารกำจัดวัชพืชทางเลือก ทั้งนี้ควรมีการทดสอบฤทธิ์ของพืชสมุนไพรนั้น ๆ ต่อการเจริญเติบโตของพืชปลูก วิธีการสกัด วิธีการใช้ และความเข้มข้นที่เหมาะสมต่อไป นอกจากนี้จากการสืบค้นข้อมูลพบว่าพืชสมุนไพรบางชนิดยังมีฤทธิ์ขับไล่แมลงศัตรูพืช บางชนิดมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของเชื้อสาเหตุโรคพืชได้ การศึกษาพืชสมุนไพรเพื่อนำมาประยุกต์ใช้ด้านการจัดการศัตรูพืชและวัชพืชในระบบเกษตรจึงอาจนำไปสู่การเกษตรแบบปลอดภัยอย่างยั่งยืน