โฆษกฯ เผยโครงข่ายพื้นฐานคมนาคมไทย "บก-ราง-น้ำ-อากาศ" พัฒนาก้าวหน้าเป็นรูปธรรม พร้อมรองรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระยะยาว
23 มี.ค. 2565, 10:50
วันนี้(23 มี.ค. 65) นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและโครงสร้างขนาดใหญ่ของประเทศ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาประเทศให้สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน จำเป็นต้องพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ เช่น ไฟฟ้า น้ำประปา โครงข่ายด้านการสื่อสาร ระบบคมนาคมขนส่งทั้งทางราง ทางบก ทางอากาศ และทางน้ำ รวมถึงการเกิดของนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างความพร้อมในการลงทุนทั้งจากในและต่างประเทศ
นายธนกรกล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ดำเนินโครงการต่าง ๆ ให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรม มีการเปลี่ยนแปลงพัฒนาไปในทิศทางที่ดีมากยิ่งขึ้นอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาระบบขนส่งทางราง (รถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง) การเปิดประมูลและให้บริการรถไฟฟ้าสายสีต่าง ๆ การพัฒนาโครงข่ายถนน เช่น การสร้าง Motorway การพัฒนาท่าเรือ รวมถึงการพัฒนาท่าอากาศยาน เพื่อเพิ่มศักยภาพในการรองรับผู้โดยสารและเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงการขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ หรือ SEZ โดยออก พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ปี 2561 เพื่อรองรับการดำเนินการที่สำคัญในอนาคต เช่น เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่ออุตสาหกรรมเป้าหมาย เมืองใหม่อัจฉริยะน่าอยู่ โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เป็นต้น
ทั้งนี้ เพื่อให้คนไทยมีความสุข อยู่ดี กินดี สังคมมีความมั่นคง เสมอภาคและเป็นธรรม รัฐบาลได้ดำเนินการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้เกิดโครงข่ายคมนาคมที่สมบูรณ์ในประเทศและเชื่อมต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ เพิ่มความสะดวกสบายในการเดินทาง ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และสร้างมูลค่าเพิ่มต่อเศรษฐกิจไทย ซึ่งโครงการต่าง ๆ มีความคืบหน้าค่อนข้างมาก หลายโครงการเป็นการลงทุนต่อเนื่อง เมื่อโครงการต่าง ๆ แล้วเสร็จ จะสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศกับนานาประเทศได้ และประชาชนคนไทยจะได้รับประโยชน์จากแผนการการลงทุนด้านคมนาคม โดยเฉพาะในเชิงเศรษฐกิจจากเม็ดเงินการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม
ซึ่งในปี 2565 ประเทศไทยจะมีโครงการลงทุนทั้งทางบก ทางถนน ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ ในวงเงินสูงถึง 1.4 ล้านล้านบาท ประกอบด้วย โครงการที่ได้ลงนามสัญญาแล้ว 516,000 ล้านบาท และโครงการลงทุนใหม่ 974,000 ล้านบาท ด้วยวงเงินการลงทุนที่สูงนี้ มีการคาดการณ์เบื้องต้นว่าจะก่อให้เกิด การจ้างงานประมาณ 154,000 ตำแหน่ง และมีส่วนที่จะต้องจัดหาวัสดุก่อสร้าง อุปกรณ์ รวมทั้งเครื่องจักรและยานพาหนะะต่าง ๆ ประมาณ 1.24 ล้านล้านบาท จะทำให้เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจแบบทวีคูณ หรือ Multiply Effect ประมาณ 4 แสนล้านบาท/ปี หรือคิดเป็น 2.35% ของ GDP
"รัฐบาลให้ความสำคัญต่อการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเป็นจักรกลที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะยาว เนื่องจากช่วยยกระดับความสามารถ เพิ่มศักยภาพของอุตสาหกรรมการผลิตในรูปแบบเดิม เพิ่มระดับในขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และดึงเม็ดเงินลงทุนใหม่ ๆ รวมถึง Supply chain จากต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอีกด้วย ซึ่งจะต่อยอดไปยังอุตสาหกรรมอื่น ๆ ให้เติบโตตามมา เช่น อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับ Logistics และการคมนาคมขนส่ง โดยรัฐบาลได้ดำเนินการปลดล็อคข้อจำกัดต่างๆ ในการประกอบกิจการ เพื่อช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน รวมถึงช่วยลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองกับชนบท" นายธนกร กล่าว