ชมความงาม "ถ้ำวัวแดง" โบราณสถานที่ถูกลืม
10 ก.ย. 2562, 16:24
โบราณสถานถ้ำวัวแดง หรือที่ชาวบ้านมักเรียกติดปากว่า "ถ้ำวัวแดง" นั้น ตั้งอยู่ที่เขาลูกช้าง ตำบลเฉลียง อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา ลักษณะถ้ำเป็นเพิงผาหินทรายแดงตื้นๆ เป็นศิลปะแบบขอม เกิดว่าเกิดขึ้นราวๆ พุทธศตวรรษที่ 16 – 18 ตามความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู คาดว่าเคยมีชุมชนโบราณอาศัยอยู่ในแถบนั้น
ถ้ำวัวแดง มีลักษณะถ้ำเป็นเพิงผาหินทรายแดงตื้นๆ ผนังด้านในสุด ภายในถ้ำมีภาพสลักนูนต่ำ สลักเป็นรูปพระอิศวรทรงตรีศูล อุ้มนาง ปารพตี (อุมา) ประทับบนหลังโคอุสุภราช (โคนนทิ) มีเทพบริวาร 2 องค์ ถือทวยพัดโพก ซึ่งจำหลักแบบลายหางนกยูง ฤาษียืนประนมมือ 3 ตน ประกอบท้ายขบวนเบื้องหน้าโคอุสุภราช สลักเป็นฤาษีนั่ง 1 ตนและเทวดา 1 องค์ ถวายความเคารพ มีอายุราว พ.ศ. 1600 – 1650 รุ่นราวคราวเดียวกับปราสาทพิมายในลุ่มน้ำมูล และปราสาทนครวัดในกัมพูชา
ภาพและเรื่องราวที่สลักในถ้ำแห่งนี้มีลักษณะเป็นศิลปะขอมซึ่งเคยเป็นที่ตั้ง ชุมชนโบราณอยู่แถบนี้และบริเวณใกล้เคียงในราวพุทธศตวรรษที่ 1-18 และได้รับการสร้างขึ้นมาตามความเชื่อในศาสนาฮินดูหรือพราหมณ์ ซึ่งชาวบ้านบอกว่าน่าจะมีอายุเกือบ 1,000 ปีเลยทีเดียว โดยทางกรมศิลปากรสันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นเมื่อประมาณพุทธศรรตวรรษที่ 16 แต่พบว่าบางส่วนถูกมือดีมาทำลายจนได้รับความเสียหายเป็นบางส่วน จึงต้องมีการนำเอากรงเหล็กมาติดตั้งไว้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำขึ้นมาอีก
จุดเด่นของถ้ำวัวแดง ก็คือจะมีรูปแกะสลักนูนต่ำบนผาหินทราย เป็นรูปพระอิศวรอุ้มนางอุมา ซึ่งจะแตกต่างจากที่อื่นๆ เพราะส่วนใหญ่ที่อื่นๆ จะเป็นรูปปั้น แต่ที่ถ้ำวัวแดงนั้นเป็นการแกะสลักนูนต่ำที่หาชมได้ยาก และมีอายุเก่าแก่เกือบพันปี จากการจรวจสอบโดยกรมศิลปากร และได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อมี พ.ศ.2479 เป็นต้นมา
นอกจากนี้ด้านบนเขาถ้ำวัวแดง ยังเป็นจุดชมวิวที่สวยงามของตำบลเฉลียง ซึ่งจะสามารถมองเห็นวิวทองนาเขียวขจีของตำบลเฉลียง
อีกทั้งยังมีรอยพระพุทธบาทให้ประชาชนได้สักการะบูชาอยู่ด้านบนเขาด้วย
แม้จะมีประวัติที่น่าสนใจ แต่โบราณสถานถ้ำวัวแดง แห่งนี้ กลับถูกปล่อยทิ้งร้าง ไร้ผู้คนมาเยือน ขาดการประชาสัมพันธ์ที่ดี เมื่อเทียบกับแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ในอำเภอ เช่นสะพานร้อยปี หรือล่องแพ เขื่อนลำแชะ ที่มีผู้คนแวะเวียนไปเยี่ยมชมไม่ขาดสาย