"คณะกรรมาธิการวิสามัญ" บุกตรวจแหล่งน้ำสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าใช้การไม่ได้ แจ้งสำนักงานชลประทานที่ 8 ซ่อมแซมด่วน
15 มี.ค. 2565, 08:48
เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณห้วยด่าน ต.โนนสำราญ อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาอุปสรรคในการจัดบริการสาธารณะ กิจกรรมสาธารณะ และหาแนวทางในการแก้ไขเรื่องการถ่ายโอนภารกิจด้านการพัฒนาแหล่งน้ำให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สภาผู้แทนราษฎร นำโดย นายอุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่ 1 พร้อมด้วย นพ.จาตุรงค์ เพ็งนรพัฒน์ รองประธานคณะกรรมาธิการคนที่ 7 น.ส.จิณณพัต เพ็งนรพัฒน์ ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการฯ นายศุภชัย มโนการ โฆษกคณะอนุกรรมาธิการฯ นายสราวุธ ชีวะประเสริฐ รองเลขาธิการ สทนช.นางพรทิพย์ ผ่องศรี ผอ.กองจัดทำงบประมาณเขตพื้นที่ 2 นายกมล ชัยกันทะ ท้องถิ่น จ.ศรีสะเกษ นายพิศิษฐศักดิ์ โชตะมังสะ ชลประทาน จ.ศรีสะเกษ ได้เดินทางมาตรวจสอบสถานที่ ที่จะเตรียมขุดลอกแหล่งน้ำห้วยด่าน ซึ่งเป็นโครงการขุดลอกต่อเนื่อง จากบริเวณที่เป็นประตูระบายน้ำต่อขึ้นไปข้างบนอีกประมาณ 1 กม.เศษ จากนั้น คณะกรรมาธิการวิสามัญ ได้เดินทางไปที่สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำบ้านห้วยด่าน ต.ภูผาหมอก อ.กันทรลักษ์ ซึ่งพบว่า สถานีสูบน้ำแห่งนี้สร้างเสร็จแล้ว แต่ว่ายังไม่สามารถใช้การได้ เนื่องจากชำรุด โดยมี นายสำรวย เกษกุล รอง ผวจ.ศรีสะเกษ พร้อมด้วย นายสุกิจ เหลืองสกุลไทย นายอำเภออุทุมพรพิสัย นายก อบต.โนนสำราญ และ นายก อบจ.ภูผาหมอก ส.อบต.ทั้ง 2 ตำบล มาให้การต้อนรับ
นพ.จาตุรงค์ เพ็งนรพัฒน์ รองประธานคณะกรรมาธิการคนที่ 7 กล่าวว่า การดำเนินการแก้ไขปัญหาตรงห้วยด่าน จะทำเป็นท่อคอนกรีตเสริมเหล็กแบบท่อสี่เหลี่ยมหรือบล็อกคอนเวิร์ส ซึ่งทางคณะกรรมาธิการได้มอบให้ กรมชลประทานเป็นผู้ดำเนินการโดยใช้งบประมาณทั้งสิ้นประมาณ 5 ล้านบาทเศษ ในส่วนของบริเวณสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักชลประทานที่ 8 กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ดำเนินการซ่อมเครื่องสูบน้ำด้วยไฟฟ้าที่ชำรุดให้เสร็จก่อน จึงจะได้ทำการถ่ายโอนภารกิจให้กับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นต่อไป และให้ทางท้องถิ่นแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำเป็นองค์กรผู้ใช้น้ำขึ้นมา เพื่อบริหารจัดการ สาเหตุที่เครื่องสูบน้ำด้วยไฟฟ้าใช้การไม่ได้สาเหตุคาดว่าเกิดจากการรั่วซึมบางส่วน จะต้องทำการซ่อมแซมส่วนที่รั่วซึมเสียก่อน ส่วนค่าใช้กระแสไฟฟ้าในการสูบน้ำนั้น ต่อไปเมื่อส่งมอบสถานีสูบน้ำแห่งนี้ให้กับทาง อบต.แล้ว ทาง อบต.กับผู้ใช้น้ำจะต้องร่วมกันรับผิดชอบค่าไฟฟ้า เป็นเรื่องบริหารจัดการของกลุ่มผู้ใช้น้ำ แต่เราก็กลัวว่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับการจ่ายค่าไฟ เนื่องจากเกรงว่าพี่น้องชาวบ้านจะไม่จ่ายค่าไฟ ซึ่งในหลักการจะต้องดำเนินการแบบนี้เมื่อถ่ายโอนไปแล้วจะมีปัญหาเรื่องเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายอะไรแบบนี้ ทางท้องถิ่นมีงบประมาณไม่เพียงพอจะต้องมีการตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำขึ้นมาได้ จะต้องมีการบริหารจัดการให้ได้แต่ก็เป็นประเด็นเรื่องค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่าไฟฟ้าที่ใช้ในการสูบน้ำ ซึ่งจะได้นำเรื่องนี้ไปประชุมหารือกันกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน คณะกรรมาธิการวิสามัญที่มาในครั้งนี้จะมาดูว่าปัญหาของภารกิจการถ่ายโอนมีปัญหาอะไรบ้าง ซึ่งหากถ่ายโอนไปแล้วจะต้องมีเงินจำนวนมากก็จะส่งผลกระทบต่อท้องถิ่นที่ไม่มีเงินในการดำเนินงาน ซึ่งจะต้องแก้ไขปัญหาหลายส่วน เช่น อบต.จะต้องไม่ต้องรับผิดชอบแหล่งน้ำตั้งแต่ 2,000,000 ลูกบาศก์เมตรลงมาซึ่งทางส่วนกลางก็มีธงอยู่แล้วว่าจะลดลงมาไม่เกิน 1,000,000 ลูกบาศก์เมตร เพราะว่าในกฎหมายเดิมจะระบุไว้ว่า 2,000,000 ลูกบาศก์เมตรต้องให้ท้องถิ่นรับผิดชอบ ซึ่งจะต้องใช้เงินงบประมาณจำนวนมาก โดยหาก 2,000,000 ลูกบาศก์เมตรจะต้องใช้เงินงบประมาณจำนวนประมาณ 70 ถึง 80 ล้านบาท แต่ทาง อบต.จะไม่มีเงินมากขนาดนั้น จึงจะต้องมีการปรับแก้หลักเกณฑ์ใหม่ที่เป็นปัญหาอุปสรรคต่างๆ เพื่อให้การปฏิบัติภารกิจถ่ายโอนต่าง ๆ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย สามารถขับเคลื่อนไปได้คณะกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้จะทำงานอย่างเต็มที่เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่พี่น้องประชาชนชาวไทยทั่วประเทศต่อไป