เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคใต้ หอการค้าไทย ลงพื้นที่ติดตามปัญหาท่าเทียบเรือนาเกลือ
9 ก.ย. 2562, 14:31
ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า นายภูวดิท ปรีชานนท์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคใต้ หอการค้าไทย พร้อมด้วย นายไพศาล จตุรพิธพร ผู้อำนวยการส่วนประสานความร่วมมือภาครัฐและเอกชน (สคช.) และคณะกรรมการหอการค้าจังหวัดตรัง ได้ลงพื้นที่ติดตามปัญหาท่าเทียบเรือนาเกลือ อ.กันตัง จ.ตรัง และท่าเทียบเรือทุ่งคลองสน อ.สิเกา ซึ่งเป็นท่าเทียบเรือของ อบจ.ตรัง โดยมี นายสมจิตร คงฉาง รองนายก อบจ.ตรัง ให้การต้อนรับและให้ข้อมูล พร้อมนำลงตรวจสอบบริเวณทั้ง 2 ท่าเรือ
สำหรับท่าเรือนาเกลือ ได้ประสบปัญหาหลายด้านมายาวนาน ทั้งปัญหาการบุกรุกที่ดินในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง ปัญหาข้อกฎหมายระหว่าง อบจ. ซึ่งเป็นผู้เช่าพื้นที่กับกรมธนารักษ์ โดยกำหนดต้องแบ่งค่าเช่ากันกับ อบจ.ในสัดส่วน 50-50 โดยไม่หักค่าใช้จ่าย แต่ขณะนี้ อบจ.ต้องจ่ายปีละ 1 ล้าน เนื่องจากกรมเจ้าท่า ยังอยู่ในช่วงที่ให้ อบจ.ทดลองบริหาร ปัญหาการห้ามไม่ให้ อบจ.เปิดให้สัมปทาน หรือไม่อนุญาตให้ปล่อยให้เช่า ขณะที่ อบจ. เองก็ไม่มีความรู้ความชำนาญในการบริหารท่าเรือ รวมทั้งปัญหาการบริหารจัดการ และปัญหาความไม่คุ้มค่าในการลงทุน เนื่องจากมีผู้ประกอบการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ยังเข้ามาใช้บริการขนถ่ายสินค้าผ่านท่าเรือนาเกลือน้อยมาก จนขณะนี้ต้องหยุดให้บริการ เพราะที่ผ่านมา อบจ. ต้องแบกรับค่าใช้จ่าย และขาดทุนจำนวนมาก
นายสมจิตร คงฉาง รองนายก อบจ.ตรัง กล่าวว่า ท่าเรือนาเกลือ ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2544-2545 ด้วยงบประมาณ 406 ล้านบาท บนเนื้อที่ดินของ อบจ. ประมาณ 100 ไร่ เพื่อรองรับเรือขนส่งสินค้าขนาด 5,000 ตันครอส พื้นที่ใช้สอยหรือลานอเนกประสงค์กว้าง 185 เมตร ร่องน้ำลึก 5 เมตร ซึ่งก่อสร้างโดยกรมเจ้าท่า และต่อมาได้มอบพื้นที่ให้แก่กรมธนารักษ์ และ อบจ.ได้เช่าพื้นที่มาบริหารจัดการเอง โดยปีแรกที่เข้ามาบริหารจัดการ อบจ.ประสบปัญหาเรื่องเครื่องจักรกล หรือเครื่องมือในการประกอบการ
หลังจากนั้น อบจ.ได้ให้ บริษัท ชูไค จำกัด เข้ามาเช่า โดยแบ่งรายได้ให้ อบจ. 20% ซึ่งแรกๆ ไม่มีผู้ประกอบการธุรกิจส่งออกสินค้าไปต่างประเทศมาใช้บริการ จึงต้องใช้วิธีการขอให้พรรคพวกที่รู้จักกันจาก จ.สุราษฎร์ธานี นครศรีฯ กระบี่ ตรัง สตูล เข้ามา และต่อมามีบริษัทชิปปิ้งเข้ามาบริหารต่อ โดยจะมีตู้คอนเทนเนอร์ผ่านท่าเรือประมาณ 140 ตู้ ครั้งละ 70 ตู้/สัปดาห์ แต่ขณะนี้ประสบปัญหาเรือที่เข้ามาในเขตต้องส่งซ่อม ผู้ประกอบการจึงหันไปใช้วิธีการขนส่งสินค้าทางรถยนต์ ไปทางด่านสะเดา และเข้าทางรัฐปีนัง ประเทศมาเลเซียแทน ทำให้ขณะนี้ไม่มีตู้คอนเทนเนอร์ผ่านท่าเรือนาเกลือแม้แต่คันเดียว ประกอบกับสิ้นสุดสัญญากับกรมธนารักษ์แล้วด้วย
นายภูวดิท ปรีชานนท์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคใต้ หอการค้าไทย กล่าวว่า เนื่องจากท่าเทียบเรือมีความจำเป็นมากต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคใต้ และท่าเรือนาเกลือ ก็เป็นท่าเรือขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญ หากสามารถแก้ปัญหาต่างๆ ทั้งระบบนี้ได้ เชื่อว่าจะเป็นท่าเรือที่มีศักยภาพด้านการส่งออกอย่างมาก และอยากให้เร่งแก้ปัญหาเพื่อให้สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจต่อได้เร็วที่สุด แต่เนื่องจาก อบจ. ไม่มีความชำนาญในการบริหารท่าเทียบเรือ ทางออกคือ ต้องปล่อยให้เอกชนเช่า เพราะจะทำให้สามารถใช้ประโยชน์ได้เต็มศักยภาพ โดยจะนำเสนอปัญหาต่อกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการคลัง เพื่อให้เร่งแก้ไขปัญหาทั้งระบบ
จากนั้น คณะได้ลงพื้นที่ตรวจสอบท่าเทียบเรือทุ่งคลองสน อ.สิเกา ซึ่งเป็นท่าเทียบเรือเพื่อการท่องเที่ยวของ อบจ.ตรัง เช่นกัน ด้วยงบประมาณก่อสร้าง 24,628,000 บาท และก่อสร้างแล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2557 แต่ปัจจุบันประสบปัญหาหลายด้านเช่นเดียวกัน ทั้งปัญหาที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกรมป่าไม้ ฟ้องร้อง กล่าวหาว่า อบจ.บุกรุกพื้นที่ ปัญหาการทิ้งร้างของอาคารห้องพักและท่าเรือ เนื่องจากไม่มีผู้มีผู้ประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยวเข้าไปใช้บริการท่าเรือดังกล่าวเลย หรือปัญหาร่องน้ำตื้นเขิน เนื่องจากถูกคลื่นซัดดินทรายเข้ามาทับถมร่องน้ำ ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการเดินเรือ จึงทำให้เป็นท่าเรือหนึ่งของ อบจ.ที่ประสบปัญหาไม่คุ้มค่าเงินลงทุน