"รองผู้ว่าฯประจวบ" เร่งหารือผู้บริหารแก้ปัญหานักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อ เพื่อพัฒนาศักยภาพฝีมือแรงงาน
15 ธ.ค. 2564, 10:45
วันที่ 15 ธ.ค.64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณอาคารอเนกประสงค์ สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายกิตติพงศ์ สุขภาคกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นประธานในการเปิดการประชุมเสวนาชี้แจง ทำความเข้าใจผู้อำนวยการโรงเรียนและครูแนะแนว ในการดำเนินโครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพให้แก่นักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับ ม.3 ซึ่งสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานประจวบคีรีขันธ์ ร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานจัดขึ้น โดยมีนายศักดิ์ศรี เส้งเต็ง ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานประจวบคีรีขันธ์ กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ โดยมีนายวินัย มะยมทอง แรงงานจังหวัดประจวบ นางสาววรรณวนัช ตันหยง รักษาราชการแทนจัดหางานจังหวัดประจวบ นายศราวุธ อินทะเสน ท้องถิ่นจังหวัดประจวบ ผู้แทนสำนักงานประกันสังคมจังหวัดประจวบ ผู้แทนสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดประจวบ เข้าร่วมโดยพร้อมเพียง
ทั้งนี้ เพื่อให้นักเรียนที่เรียนจบการศึกษาภาคบังคับ ม.3 แล้วไม่ได้เรียนต่อ ซึ่งมีสถานะเป็นแรงงานที่ยังไร้ฝีมือได้รับการดูแลจากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อเพิ่มทักษะความสามารถทางด้านอาชีพ ได้เป็นแรงงานที่มีฝีมือก่อนออกสู่ตลาดแรงงาน ซึ่งจะเป็นการสร้างความมั่นคงทางด้านรายได้และอาชีพให้กับนักเรียน ตลอดจนคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ในระดับหนึ่ง เนื่องจากที่ผ่านมานักเรียนที่จบการศึกษาภาคบังคับ ม.3 แล้วไม่ได้เรียนต่อยังขาดประสบการณ์เป็นแรงงานที่ไร้ฝีมือเมื่อเข้าสู่สถานประกอบการ ทำให้กลายเป็นแรงงานที่ยังด้อยคุณภาพ
ด้านนายศักดิ์ศรี เส้งเต็ง ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า สำหรับนักเรียนที่เรียนจบจากสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานประจวบคีรีขันธ์แล้ว จะได้มีการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ จัดหางานจังหวัด และหน่วยงานในสังกัดที่ได้ร่วมกันบูรณาการ จะได้จัดหางานหาอาชีพตามความเหมาะสมให้กับนักเรียนที่จบออกไป เพื่อจะได้มีอาชีพและมีรายได้ที่สูงขึ้น เป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตและลดภาระทางสังคม
นายกิตติพงศ์ สุขภาคกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า โครงการนี้เป็นโครงการเพิ่มทักษะทางด้านอาชีพแก่นักเรียนที่จบการศึกษาภาคบังคับ ม.3 แล้วไม่ได้เรียนต่อ สาเหตุเนื่องจากผู้ตรวจการแผ่นดินได้ไปตรวจราชการแล้วก็พบประเด็นปัญหาเด็กนักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อเมื่อจบออกไปแล้วไม่มีทักษะในการประกอบอาชีพในด้านต่างๆ จึงทำให้เป็นแรงงานที่ค่อนข้างที่จะเป็นแรงงานที่ไร้ฝีมือ ดังนั้นจะต้องเพิ่มทักษะให้กลุ่มนักเรียนเหล่านี้ ให้มีทักษะเพิ่มขึ้นกลายเป็นแรงงานที่มีฝีมือ ก่อนออกสู่ตลาดแรงงาน ซึ่งจะทำให้ได้รับค่าจ้างที่สูงขึ้นกว่าค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ จึงได้มีการบูรณาการร่วมกับกระทรวงแรงงาน กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดโครงการนี้ขึ้น เพื่อเป็นการแก้ปัญหาการว่างงาน และ เป็นการลดอัตราแรงงานที่ไร้ฝีมือ เมื่อเข้าสู่สถานประกอบการ เป็นการพัฒนารายได้และคุณภาพชีวิตของแรงงานให้ดีขึ้น ลดปัญหาการว่างงาน และลดภาระทางสังคมได้อีกทางหนึ่งด้วย