นายกฯ สั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามสถานการณ์ไวรัสโควิดสายพันธุ์ "โอมิครอน" ในแอฟริกาใต้
27 พ.ย. 2564, 18:30
วันที่ 27 พ.ย. 64 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้รับทราบกรณีที่ได้มีรายงานว่าองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ B.1.1.529 ที่พบในแอฟริกาใต้ว่าเป็นสายพันธุ์ที่อาจแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วมากกว่าสายพันธุ์อื่นและ WHO ตั้งชื่อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์นี้ว่า ออมิครอน (Omicron)
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้หน่วยงานทั้งด้านสาธารณสุข ความมั่นคง คมนาคม และการท่องเที่ยว ให้ติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดในต่างประเทศอย่างใกล้ชิด พร้อมวางมาตรการเฝ้าระวังที่เข้มงวด เพราะแม้การแพร่ระบาดจะยังไม่เกิดในประเทศไทย แต่ขณะนี้ไทยก็อยู่ในช่วงการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ เปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ ต้องร่วมกันดูแลไม่ให้ไวรัสสายพันธุ์ดังกล่าวเข้ามายังประเทศไทย
“ภายหลังรัฐบาลมีนโยบายเปิดประเทศ ได้รับการตอบรับอย่างดีจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะจากสหรัฐฯยุโรป นายกรัฐมนตรีขอให้ทั้งหน่วยงานสาธารณสุข ความมั่นคง คมนาคม ท่องเที่ยว ติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด มีการกำชับผู้ปฏิบัติงานด่านหน้า ให้ปฏิบัติตามมาตรการการคัดกรองที่เข้มงวด เพื่อความปลอดภัยของประชาชนในประเทศและสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคการท่องเที่ยวของไทยด้วย” น.ส.ไตรศุลี กล่าว
ทั้งนี้ รายงานของกรมควบคุมโรค ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 1-25 พ.ย. 64 มีผู้เดินทางจากต่างประเทศเข้ามายังประเทศไทยผ่านทางท่าอากาศยาน 5 แห่งประกอบด้วย ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ดอนเมือง เชียงใหม่ หัวหิน ภูเก็ต และสมุย รวมแล้ว 104,065 คน โดยเป็นผู้เดินทางในกรณี Test&Go จำนวน 81,270 คน กรณีตามโครงการ Sandbox จำนวน18,360 คน และกรณีกักตัว(Quarantine) จำนวน 4,435 คน พบผู้ที่ตรวจ RT-PCR แล้วมีผลเป็นบวก 135 คน คิดเป็นอัตรา 0.13% ของผู้เดินทางจากต่างประเทศมายังประเทศไทยทางอากาศทั้งหมด โดยเมื่อแยกตามการเดินทางเข้าประเทศไทยในแต่ละกรณีพบว่า กรณี Test&Go มีอัตราการพบเชื้อต่ำที่สุด 0.08% กรณี Sandbox พบเชื้อ 0.20% และกรณี Quarantine พบเชื้อ 0.81%