สมาคมศูนย์การค้าไทย เสนอภาครัฐ ผ่อนปรนเปิดธนาคาร-ร้านไอที
12 ส.ค. 2564, 12:13
สมาคมศูนย์การค้าไทย เสนอภาครัฐบาลให้มีการทบทวนมาตรการเพื่อผ่อนปรนให้ 3 ธุรกิจหลักที่มีความจำเป็นต่อการใช้ชีวิตของประชาชน สามารถเปิดให้บริการได้ในศูนย์การค้า ได้แก่
1) ธนาคาร สถาบันการเงิน
2) ธุรกิจสื่อสาร ไอที
3) ร้านเบ็ดเตล็ดและร้านเครื่องใช้ไฟฟ้าที่จำเป็น
โดย นายนพพร วิฑูรชาติ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.สยามฟิวเจอร์ ดีเวลอปเมนท์ (SF) ในฐานะนายกสมาคมศูนย์การค้าไทย กล่าวว่า จากปัญหาความแออัดในการให้บริการเมื่อสัปดาห์ที่แล้วที่มีลูกค้าต่อคิวใช้บริการธนาคารเป็นจำนวนมาก สมาคมศูนย์การค้าไทย มีความห่วงใยต่อสถานการณ์ดังกล่าว และมุ่งมั่นลดความแออัดในการใช้บริการให้ประชาชน จึงขอเสนอภาครัฐให้ทบทวนการเปิดให้บริการ 3 ธุรกิจหลัก ได้แก่ ธนาคาร ธุรกิจสื่อสาร และร้านเบ็ดเตล็ดรวมถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าในศูนย์การค้า เพื่อกระจายช่องทางการใช้บริการและอำนวยความสะดวกให้ประชาชน เพราะศูนย์การค้ามีมาตรการดูแลพื้นที่ของตนเองให้เป็นสถานที่ที่ปลอดภัยสำหรับทุกคนมากที่สุด
โดยธนาคาร ธุรกิจไอที และร้านเบ็ดเตล็ดก็มีมาตรการเข้มข้น ผนวกกับศูนย์การค้าก็มีมาตรการที่เข้มข้นสูงสุดอีกระดับ ซึ่งถือเป็นการ Double Protection และปลอดภัยกว่าสำหรับลูกค้า อีกทั้งยังได้มีการทบทวนแผนอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับมาตรการให้แข็งแกร่ง และสอดคล้องกับสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา
นอกจากนั้น จากสถิติการติดเชื้อของพนักงานในศูนย์การค้านั้น พบว่ามีอัตราส่วนที่ต่ำมาก เพราะมีมาตรการในการควบคุมที่ชัดเจน พร้อมทั้งมาตรการป้องกันเชิงรุก Intensive Tracking บริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพในการแยกกลุ่มเสี่ยง-กักตัว 14 วัน ดูอาการ-เปลี่ยนพนักงานชุดใหม่ เพื่อควบคุมความเสี่ยงตามขั้นตอนของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด
สมาคมฯ จึงได้ริเริ่มจัดทำ "แผนแม่บทมาตรการ ธนาคารและธุรกิจสื่อสาร สะอาด มั่นใจ" 26 ข้อปฏิบัติ ที่มีความเข้มข้นเป็นพิเศษ โดยมุ่งหวังเพื่ออำนวยความสะดวก ลดความแออัด และลดเวลาการใช้บริการของประชาชน หากภาครัฐผ่อนปรนให้เปิดให้บริการได้ ดังนี้
– พนักงานทุกคนได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว (Sinovac 2 เข็ม, AstraZeneca หรือวัคซีนอื่นๆ อย่างน้อย 1 เข็ม)
– ก่อนเข้าทำงาน พนักงานทุกคนต้องตรวจหาเชื้อโดย Antigen Test Kit และมีผลเป็นลบ โดยผลตรวจต้องไม่เกิน 3 วัน หลังจากนั้นจะต้องตรวจหาเชื้อโดยวิธี Antigen Test Kit เป็นประจำทุก 2 สัปดาห์
– บันทึก และประเมินประวัติของพนักงานทุกคน ทุกวัน
– เข้มงวด ห้ามพนักงานจับกลุ่ม หรือนั่งทานอาหารร่วมกัน
– พนักงานทุกคนต้องสวมหน้ากากอนามัย 2 ชั้น หรือ หน้ากากอนามัยและ Face shield ตลอดการให้บริการ
– ส่งเสริมให้ลูกค้าลงทะเบียนจองคิวล่วงหน้าผ่านช่องทางออนไลน์
– จำกัดจำนวนคน 1 คนต่อ 5 ตร.ม. และลดความแออัด 100% Social Distancing
– จัดให้มีเจ้าหน้าที่นับและควบคุมจำนวนลูกค้าหรืออุปกรณ์ในการนับจำนวนลูกค้าให้เป็นไปตามกำหนด
– ส่งเสริมการทำธุรกรรมผ่านช่องทางออนไลน์ หรือ e-Banking
– บริการถุงมือพลาสติกสำหรับลูกค้าที่มาใช้บริการ
– ธนาคารงดให้บริการแลกเหรียญ และธนบัตรย่อย เพื่อลดการสัมผัส
– มีพนักงานจัดระบบคิวหน้าร้าน
– กำหนดจุดรอคิวในบริเวณที่กำหนด หากบริเวณหน้าร้านไม่มีพื้นที่ ให้ทางร้านแจกบัตรคิวพร้อมขอเบอร์โทรลูกค้า แล้วให้ลูกค้าไปนั่งรอที่ Rest Area ที่ทางศูนย์ฯ จัดไว้
– กำหนดการจัดคิว และมีสัญลักษณ์เว้นระยะอยู่ข้างหน้าตู้ ATM หรือ e-Booth ห่าง 1-2 เมตร
– ตรวจวัดอุณหภูมิลูกค้าทุกคนอย่างเคร่งครัดทุกครั้งก่อนเข้าพื้นที่
– ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอลล์ทั้งก่อน-หลังเข้ารับบริการ
– ธนาคารจัดเจลแอลกอฮอลล์บริเวณเคาน์เตอร์ให้บริการ 2 ช่อง ต่อ 1 ขวด
– กำหนดเส้นทางเดินของลูกค้าในร้านค้า
– สำหรับร้านค้า จำกัดการรับลูกค้าและผู้ติดตามรวมแล้วไม่เกิน 2 คนต่อกลุ่ม
– จัดระเบียบการเข้าคิวแคชเชียร์และจุดบริการต่างๆ กำหนด ระยะห่าง 1-2 เมตร
– ส่งเสริมการชำระเงินแบบ Cashless Payment
– สำหรับอุปกรณ์ Demo ต้องเช็ดน้ำยาฆ่าเชื้อหลังจากลูกค้าสัมผัสทันที
– ทำความสะอาดบริเวณจุดที่มีการสัมผัสร่วมสูง ทุกๆ 30 นาที
– ทำความสะอาดและพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อพื้นที่ร้านค้าอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องทุกวันหลังปิดให้บริการ
– ทำความสะอาด Big Cleaning อบโอโซนฆ่าเชื้อ ทันทีหากพบว่ามีผู้ติดเชื้อมาใช้บริการ และพนักงานที่มีความเสี่ยงสูง ต้องกักตัว 14 วันเพื่อดูอาการ และเปลี่ยนพนักงานชุดใหม่ทั้งหมด
– มี Counter Shield ในจุดให้บริการลูกค้า