นครพนม พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่ม 2 ราย รวมสะสม 134 ราย
21 พ.ค. 2564, 15:55
วันที่ 21 พฤษภาคม 2564 ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า ณ ห้องประชุมพระธาตุพนม ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดนครพนม นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม มอบหมายให้นายสุวิทย์ จันทร์หวร รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม พร้อมด้วยนายแพทย์มานพ ฉลาดธัญญกิจ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม แถลงข่าวสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด – 19 โดยเปิดเผยว่าพบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อเพิ่ม จำนวน 2 ราย ทำให้มียอดสะสมอยู่ที่ 134 ราย ขณะที่การรักษามีผู้ที่รักษาหายกลับบ้านแล้ว 120 ราย เหลือรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลเพียง 12 ราย ส่วนยอดผู้เสียชีวิตยังเท่าเดิมคือ 2 ราย
โดยผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษาทั้ง 12 ราย กระจายอยู่ตามโรงพยาบาลต่าง ๆ ดังนี้ รพ.นครพนม 1 ราย, รพ.สมเด็จพระยุพราชธาตุพนม 3 ราย, รพ.นาหว้า 4 ราย และ รพ.ศรีสงราม กับ รพ.นาแกแห่งละ 2 ราย ทั้งหมดไม่มีผู้ป่วยเข้าขั้นวิกฤตใด ๆ
รอง ผวจ.นครพนม กล่าวว่า 2 ราย ที่ตรวจพบล่าสุดนี้ มาจากพื้นที่เสี่ยงสูงคือแคมป์คนงานย่านแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กทม. ซึ่งเป็นคลัสเตอร์ใหญ่มาก ตรวจพบว่ามีผู้ติดเชื้อแล้วกว่าพันราย โดยผู้ป่วยเดินทางมากันทั้งหมด 6 คนด้วยรถยนต์ส่วนตัวแวะส่งญาติที่อำเภอกุมภวาปี จ.อุดรฯ จำนวน 1 คน ถึงภูมิลำเนา ต.เหล่าพัฒนา อ.นาหว้า เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม โดยทั้ง 5 คนกักตัวเองที่บ้าน และวันต่อมาเข้ารับการตรวจที่ รพ.นาหว้า พบว่ามี 2 คนติดเชื้อโควิด ส่วนที่เหลือ 3 คนให้กักตัวอยู่บ้าน อีกหนึ่งสัปดาห์ต่อมาก็ตรวจซ้ำอีกครั้งจึงพบว่าติดเชื้อเพิ่ม 2 รายรวมของเดิมเป็น 4 ราย เหลือ 1 ราย ที่อยู่ระหว่างกักตัวที่จะตรวจซ้ำเป็นครั้งที่ 3
ด้าน นพ.มานพ ฉลาดธัญญกิจ กล่าวเสริมเพิ่มเติมว่า ผลตรวจผู้ป่วยคลัสเตอร์แคมป์คนงานพบเบื้องต้น 2 ราย คือในรายที่ 128-129 ที่เหลือ 3 คนตรวจครั้งแรกไม่พบจึงให้กักตัวในพื้นที่ที่จำกัดไว้ หนึ่งอาทิตย์ต่อมาจึงนำตัวมาตรวจซ้ำจึงพบว่ามีผู้ติดเชื้อเป็นรายที่ 133-134 ของจังหวัดฯ อีกหนึ่งคนนั้นเป็นภรรยาของผู้ป่วยราย 129 ที่ต้องกักตัวต่อไปอีก 1 สัปดาห์แล้วค่อยมาตรวจซ้ำเป็นครั้งที่ 3 เพื่อให้มั่นใจว่าปลอดเชื้อจริงๆ ส่วนญาติที่ลงที่จังหวัดอุดรฯตรวจแล้วติดเชื้อด้วยเช่นเดียวกัน
นายแพทย์ สสจ.ฯ กล่าวต่อว่าในจังหวัดนครพนมไม่มีผู้ป่วยติดเชื้อกันเองแม้แต่รายเดียว ผู้ป่วยทั้ง 134 รายล้วนนำเชื้อจากพื้นที่อื่นมาทั้งสิ้น จำแนกได้ดังนี้ 71 คนติดเชื้อจากพื้นที่เสี่ยงและนำมาแพร่ให้ชาวนครพนมอีก 17 คน ขณะที่ 34 คนติดเชื้อจากการเที่ยวสถานบันเทิงและนำเชื้อไปแพร่คนในบ้านอีก 8 คน และ 4 คนเป็นบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อจากผู้ป่วยโควิดที่อยู่ขั้นวิกฤตช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ การติดเชื้อภายในจังหวัดจึงไม่มีตามที่กล่าวข้างต้น
สำหรับจำนวนผู้จองวัคซีนในกลุ่มผู้สูงอายุ และ 7 โรคเรื้อรัง ทั้ง 12 โรงพยาบาล เป้าหมาย 153,095 ราย มีผู้จองคิวแล้ว 129,777 ราย คิดเป็นร้อยละ 84.77 % (ข้อมูลอัพเดทวันที่ 21 พฤษภาคม 2564 เวลา 06.58 น.) โดยมีแนวทางดำเนินการให้บริการวัคซีน คือ 1.ให้ทุก รพ.มีจุดรับลงทะเบียนวัคซีนในโรงพยาบาล 2.ฉีดในกลุ่มผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง และ 60 ปีขึ้นไป ที่มีการลงทะเบียนใน”หมอพร้อม”เป็นลำดับแรก ให้ได้จำนวนมากที่สุด 3.ศักยภาพในการฉีดแต่ละ รพ.สามารถรองรับได้ 600-800 คน/วัน 4.ดำเนินการฉีดวัคซีนตามเป้าหมายที่ได้รับให้เสร็จภายใน 15 วันของแต่ละเดือน 5.จัดตั้งสถานที่ฉีดนอก รพ. โดยบูรณาการร่วมกันโดยใช้เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานอื่นๆเข้ามามีส่วนร่วมในหน่วยฉีดวัคซีนของแต่ละอำเภอ และ 6.หน่วยฉีดใน รพ.ให้ฉีดในกลุ่มผู้ป่วยที่ต้องเฝ้าระวัง ผู้ป่วยติดเตียง ผู้ป่วยที่เดินทางลำบาก หรือไม่สามารถมาใช้บริการในสถานที่ฉีดนอก รพ.ได้