กรมคุมประพฤติเผยเงื่อนไขพักโทษ "สรยุทธ" ห้ามเป็นพิธีกรงานการเมือง แต่ทำหน้าที่สื่อได้
16 มี.ค. 2564, 11:24
วันนี้ (16 มี.ค. 2564) นายวิตถวัลย์ สุนทรขจิต อธิบดีกรมคุมประพฤติ ได้ชี้แจงถึงมาตรฐานการดูแลผู้ได้รับการพักการลงโทษของกรมคุมประพฤติ ว่า เป็นการดูแลผู้กระทำผิดที่ได้รับโอกาสให้มาใช้ชีวิตในชุมชน โดยเป็นการดูแลผู้กระทำผิดปฏิบัติตามเงื่อนไขการพักการลงโทษ ประกอบด้วย รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ พักอาศัยอยู่กับผู้อุปการะตามสถานที่ที่แจ้ง เว้นแต่มีเหตุจำเป็นให้ยื่นคำร้องต่อพนักงานคุมประพฤติโดยต้องได้รับการอนุญาตก่อน ปฏิบัติตามคำแนะนำและคำตักเตือนของพนักงานคุมประพฤติ และเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อการแก้ไขฟื้นฟูตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กรมคุมประพฤติกำหนด รวมทั้งปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับ หากมีการฝ่าฝืนและถูกลงโทษ โดยเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่และอำนาจตามกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับ ไม่ว่าจะเป็นโทษสถานใด นักโทษเด็ดขาดหรือผู้มีอุปการะต้องแจ้งให้พนักงานคุมประพฤติทราบทุกครั้ง ประกอบอาชีพสุจริต และเงื่อนไขอื่นตามที่คณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาวินิจฉัยการพักการลงโทษกำหนด
สำหรับการติดอุปกรณ์ EM ในกรณีได้รับการพักการลงโทษ กรมคุมประพฤติจะติดอุปกรณ์เป็นระยะเวลาครึ่งหนึ่งของโทษที่เหลืออยู่ โดยหลักการของอุปกรณ์ EM จะเป็นการติดตาม ตรวจสอบ การเคลื่อนไหวของผู้กระทำผิด กรณีการปล่อยตัว นายสรยุทธ อดีตผู้ประกาศข่าว ซึ่งคงเหลือโทษจำคุก 2 ปี 4 เดือน 14 วัน จึงมีระยะเวลาในการติดอุปกรณ์ EM จำนวน 14 เดือน ซึ่งเป็นไปตามหลักการและการปฏิบัติเช่นเดียวกับผู้ได้รับการพักการลงโทษรายอื่น ตลอดจนมีเงื่อนไขอื่นๆ เช่น ห้ามเข้าใกล้เรือนจำ ไม่ให้ขึ้นเครื่องบิน หากมีความจำเป็นต้องขออนุญาตก่อน ไม่ให้ประกอบอาชีพทำธุรกิจหรือธุรกรรมกับบุคคลที่มีคดีความ ไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ไม่ให้เป็นพิธีกรหรือโฆษกในงานที่เกี่ยวกับการเมือง แต่สามารถทำหน้าที่ของสื่อภายใต้จรรยาบรรณของวิชาชีพได้ตามปกติ
ทั้งนี้ ปัจจุบันยอดการติดอุปกรณ์ EM กับผู้กระทำผิดที่ได้รับโอกาสกลับมาใช้ชีวิตในสังคมแล้วจำนวน 33,000 ราย ซึ่งทุกรายได้รับการดูแลเป็นไปตามมาตรฐานการคุมความประพฤติ
ที่มา กรมคุมประพฤติ Department of Probation