เปิ้ล นาคร เครียด ร้านอาหาร ขาดทุนยับ ลงทุนไปกว่า 10 ล้าน แบกรับภาระอุ้มลูกน้อง 100 กว่าชีวิต
9 ม.ค. 2564, 14:09
เปิ้ล นาคร ศิลาชัย ตั้งโต๊ะแถลงข่าวเปิดใจกับ สื่อมวลชน หลังได้รับผลกระทบจากพิษโควิด-19 ระบาดครั้งใหม่ ธุรกิจร้านอาหารที่เพิ่งเปิดได้ไม่นานขาดทุนยับ ลงทุนไปกว่า 10 ล้าน แบกรับภาระอุ้มลูกน้อง 100 กว่าชีวิต ที่ ร้าน Sail To The Moon By Nakorn พระราม 3
“เราก็คาดไม่ถึงเหมือนกัน ซึ่งก็เชื่อว่าทุกคนทั้งประเทศ ทั้งโลกก็คาดไม่ถึงหรอกว่าจะเจอสถานการณ์แบบนี้อีกครั้งนึง ก็โดนเข้าเต็มๆ ร้านเราเปิดมาก็มีพนักงานค่อนข้างเยอะอยู่เกือบ 50 คน 2 สาขารวมกับคุณทองบายนาครรัชดา ซอย4 ด้วยก็อีกประมาณ 50 คน รวม 2 ร้านก็เกือบ 100 คน เรามีพนักงานที่จะต้องดูแลอยู่เกือบ 100 คน พอทางรัฐบาลสั่งว่าให้เปิดได้ถึง 3 ทุ่ม เราก็ปฎิบัติตามนั้นดู
เรามีความรู้สึกว่าถึงจะเปิดได้ถึง3 ทุ่มก็ตาม กับสถานการณ์ที่มันโตขึ้นทุกวันแบบนี้ มันก็ทำให้คนกินลดน้อยลงมาก จากประมาณ 100 เปอร์เซ็นต์ เหลือไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์เลยดีกว่าที่มานั่ง จากพนักงานของเราที่มีร่วม 100 คนเราก็จะไปลดลง หรือให้เขาหยุดงาน เราก็ทำไม่ได้ เขาก็จะตกงาน ซึ่งมันก็จะไปเป็นภาระของรัฐบาล เป็นภาระของสังคมอีก
ฉะนั้นเราก็เลยคิดกันเอาไงดี เพราะค่าเช่า 2 ที่ก็เป็นล้านนะครับ ค่าใช้จ่าย ค่าแรงงาน เยอะมากๆ มันเป็นภาวะที่เราเข้าใจแหละว่าไม่ใช่แค่เราเจอเท่านั้น คนไทยทั้งประเทศเจอ คนที่เดือดร้อนกว่าครอบครัวเราก็มีน่าจะเยอะมากๆ ยิ่งพ่อแม่พี่น้องที่ทำร้านค้าต่างๆ ทำธุรกิจอื่นที่ไม่ใช่อาหารอีก ทุกคนโดนกันหมด
มาถึงตรงนี้เราก็มองหน้ากับจูนว่าเอ๊ะ...เราจะไปต่อยังไงดี ซึ่งสุดท้ายเดลิเวอรี่ ไดร์ฟทูก็เป็นทางออกของเรา ให้เขารับอาหารจากเราไปทานที่บ้าน ก็โอเคนะ ส่วนจะเปิดร้านต่อไหมก็มองหน้ากันซักพักแล้วก็คิดว่าปิดเถอะ”
แต่มันก็มีคำถามมาอีกว่าถ้าเราปิดร้านแล้วลูกน้องเรา ร่วม 100 คนเราจะทำยังไง เราจะแบกกันไหวเหรอ
แล้วรายได้มันนิดเดียว แล้วลูกน้องเราจะยังไง เราจะให้เขาหยุด ออกจากบ้านไปครึ่งนึงเหรอ หรือจาก 100 คนเหลือ 20 คนแล้วอีก 80 คนล่ะ จะทำยังไง มีน้องบางคนเขาก็นั่งร้องไห้ เขาก็มาคุยกับเราตอนที่ประชุมกันว่าเราจะไม่ปิดร้านใช่ไหม เราก็ต้องตอบว่า ต้องปิด เขาก็น้ำตาไหลเลย แล้วพวกหนูจะยังไง ก็มานั่งคุยกันว่าไม่ต้องกลัว ทุกคนจะอยู่กับเรา
พี่เปิ้ลกับพี่จูนรับผิดชอบเอง เราจะรับผิดชอบทุกคนแต่ขอให้ทุกคนประหยัด ช่วยกันทำเท่าที่เรามี เดลิเวอรี่ก็ช่วยกันส่ง ใครเช็ด ปัด กวาด ล้างต่างๆให้มันสะอาด เตรียมทุกอย่างให้พร้อมกลับมา
เมื่อไหร่ที่ตัวเลขของคนติดเชื้อทยอยลดลง ทุกอย่างฟื้นกลับมาเมื่อไหร่ พวกเราจะได้รับเงินเดือนกันเต็มที่เหมือนเดิม แล้วเราจะรีบกลับมาเปิดร้านให้ได้เหมือนเดิม ซึ่งเราตั้งเป้าไว้ว่าจะปิดเดือนนี้ทั้งเดือน แต่ก็ไม่แน่ ถ้าโชคช่วยก็อาจจะเหลือ 2 อาทิตย์ก็ได้แล้วค่อยกลับมาเปิด ก็ภาวนาให้เป็นอย่างนั้น แต่ถ้ามันไม่ได้จริงๆเราก็ต้องกัดฟันดูแลรับผิดชอบพวกเราต่อไป”
ลดค่าจ้างลงไปเยอะไหม? ค่าจ้างตอนนี้เราดูที่ยอดขายจากเดลิเวอรี่ด้วย จาก 2 เดือนที่เปิดมายอดขายแทบจะไม่มีเลย เพราะยังไม่ค่อยมีใครรู้ว่าทางเราเปิดเดลิเวอรี่แล้ว แล้วก็ยังไม่มีใครรู้ว่าเราปิดร้านแล้ว หลายคนมาที่ร้านแล้วเราก็แจ้งเขาไปว่าเราปิด
แต่ก็ยังไม่รู้ว่าเดลิเวอรี่มันเป็นยังไง ระบบต่างๆร้านนี้ก็ยังไม่เคยทำ ก็ยังไม่รู้แต่วันนี้เราเซ็ตทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว เราก็เลยต้องบอกพนักงานทุกคนให้ช่วยลดค่าใช้จ่ายหน่อย พี่ขอลดค่าแรงลงนิดนึงนะ มาทำงานวันเว้นวันได้ไหม
ในส่วนไหนที่จำเป็นก็ต้องทำงานกันเต็มวันทุกวัน มันจะช่วยลดค่าใช้จ่ายไปได้หน่อยนึง อย่างน้อยเด็กก็จะมีเงินไปจ่ายค่าห้องพัก ส่วนค่าอาหารเราเลี้ยงดูปูเสื่อทุกวันอยู่แล้วไม่ต้องห่วงเลย นอกนั้นก็น่าจะพอที่จะอยู่ได้ แล้วไม่ต้องไปไหนนะ ไม่ต้องกลับบ้านเกิดตัวเอง ไม่ต้องโยกย้ายเพราะเดี๋ยวจะเสียนโยบายของผู้ใหญ่ที่เขาวางมาให้ ก็พยายามทำให้ดีที่สุด”
ถามว่าท้อมั้ย บอกตรงๆว่าไม่ท้อเลย เพราะพอเราเห็นพ่อแม่พี่น้องคนอื่น เราเชื่อเลยว่าเขาเหนื่อยกว่าเรา หนักกว่าเราเยอะมาก เงินร้อยกว่าบาท มันเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับคนไทยในตอนนี้ ณ ตอนนี้เหมือนลงทะเลที่เจอคลื่นแล้ว มันไปบ่นไม่ได้แล้ว มีทางเดียวต้องข้ามคลื่นแต่ละลูกไปให้ได้ จนกว่าพายุจะสงบ ก็จะเจอน้ำเรียบ ถ้าท้อจะไม่ทันคนอื่น
เคยคิด แรกๆ แวบแรกเลยคือปิดกิจการเลย พอแล้วไม่ทำร้านอาหารแล้ว เจอวันแรกช็อก ขายได้วันละพันกว่าบาท มีลูกน้อง 50 กว่าคน แล้วยอดขายพันกว่าบาทเลยช็อก ตัดสินใจจะปิดร้าน พอไปนอนคิดได้คืนเดียว กลับมาคิดอีกที อาชีพอื่น อสังหา นักบิน หลายคนกลับมาทำร้านอาหารทั้งนั้น ทั้งที่ทำไม่เป็น แล้วเราทำมาเป็นสิบกว่าปี เราจะหนีทำไม ในเมื่อนี่คืออาชีพที่ถนัดด้วย
ก็เลยเลิกคิดที่จะหนี ตอนนี้มีทางเดียวคือสู้ แล้วก็สนุกไปกับมัน ต้องคิดทุกวัน วันนี้เดลิเวอรี่จะคิดเมนูอะไร จะรับ-ส่ง ยังไง จะมี drive thru ไหม ขับรถมาจอดหน้าร้านไม่ต้องลงมาแล้วก็โทรเข้ามาสั่งจะเอาอะไร พอของได้แล้วก็โทรไปบอก ค่อยขับรถมา แล้วเอื้อมหยิบของบนโต๊ะกลับ ต่างคนก็ต่างไม่โดนกัน มี Social Distancing เกิดขึ้น ความปลอดภัยก็เกิดขึ้น
เราก็คิดๆว่าจะมีวิธีไหนอีก แล้วก็คิดอีกว่า ทำยังไงให้คนได้กินเหมือนอยู่ร้านด้วย ยังสดอยู่ ดีอยู่ คุณภาพ รวมถึงปริมาณด้วย กลับบ้านไปแล้วแฮปปี้ ได้กินก๋วยเตี๋ยวเรือชาบู กับครอบครัว แล้วสนุกสนานกับการกิน เหมือนกินที่ร้าน
เราจะทำยังไงให้เขามีความรู้สึกเหล่านี้ ก็นอนคิดทุกวัน บางวันตี 3 จูนหันมาเห็นพี่เปิ้ลยังกดโทรศัพท์อยู่ นึกว่าส่องไอจีดูบิกินี่ เช้ามาถึงได้เห็นว่า พี่เปิ้ลส่งงานตอนตี 3 ว่าเนื้อต้องแบบนี้นะ กุ้งต้องเอาแบบนี้นะ เราทำงานแบบนั้น ตี 3,4,5 ทำงานตลอด”