กองทัพเรือ ส่งมอบรพ.สนามให้สาธารณสุข ใช้รองรับผู้ป่วยโควิด-19
2 ม.ค. 2564, 15:52

เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2564 เวลา 11.00 น. พลเรือเอก ชาติชาย ศรีวรขาน ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้มอบหมายให้ พลเรือโท รณรงค์ สิทธินันทน์ ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน เป็นผู้แทนในการส่งมอบโรงพยาบาลสนาม ให้แก่กระทรวงสาธารณสุขโดยมี นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสูข เป็นผู้รับมอบ ณ โรงพยาบาลสนาม ค่ายพระมหาเจษฏาราชเจ้า หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี
การจัดตั้งโรงพยาบาลสนามกองทัพเรือในครั้งนี้ เพื่อสนับสนุน และรองรับผู้ป่วยกรณีโรงพยาบาลหลักของกระทรวงสาธารณสุขในพื้นที่จังหวัดชลบุรี จังหวัดระยอง และจังหวัดจันทบุรี เกินขีดความสามารถที่จะดูแลผู้ป่วยได้ทั้งหมด โดยรับผู้ป่วยที่ผ่านการรักษา และสังเกตอาการจากโรงพยาบาล กรณีอาการไม่รุนแรงให้มาพักรักษา และติดตามอาการต่อเนื่อง จนกว่าผลตรวจจะเป็นลบหรือไม่พบเชื้อแล้ว แต่หากพบว่ามีอาการหนักขึ้น ก็จะถูกส่งตัวกลับไปรักษาที่โรงพยาบาลหลักทันที
หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน ได้ดำเนินการปรับปรุงอาคารเสร็จสิ้นพร้อมใช้งานแล้ว โดยประกอบด้วยอาคารควบคุม 1 อาคาร และอาคารรับผู้ป่วย 3 อาคาร สามารถรับผู้ป่วยได้จำนวน 174 คน การเตรียมการรองรับผู้ป่วยจากสถานการณ์การแพร่ระบาด เพื่อเตรียมการในการรองรับผู้ป่วยโควิด-19 จากสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่ ณ โรงพยาบาลสนาม ศูนย์การฝึก หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี, โรงพยาบาลสนามค่ายพระมหาเจษฎาราชเจ้า หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี และโรงพยาบาลสนาม สนามฝึกกองทัพเรือ บ้านจันทเขลม จังหวัดจันทบุรี
ทั้งนี้ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่ ในหลายพื้นที่ของประเทศ ในส่วนของกองทัพเรือ พลเรือเอก ชาติชาย ศรีวรขาน ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้สั่งการให้หน่วยต่าง ๆ ของกองทัพเรือเตรียมความพร้อม และดำเนินการให้กรมแพทย์ทหารเรือ จัดเตรียมโรงพยาบาลหลัก ประกอบด้วยโรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า และโรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ สำหรับตรวจวินิจฉัย และรับผู้ป่วยที่มีอาการหนัก พร้อมทั้งเตรียมโรงพยาบาลเฉพาะโรค 2 แห่งคือโรงพยาบาลทหารเรือกรุงเทพ และโรงพยาบาลอาภากรเกียรติวงศ์ สำหรับผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการ
นอกจากนั้นยังให้หน่วยกองทัพเรือในพื้นที่ต่าง ๆ จัดพื้นที่ควบคุมเพื่อเฝ้าระวัง หรือ State quarantine ดังนี้
1.) พื้นที่กรุงเทพฯ จัดที่กรมยุทธศึกษาทหารเรือ
2.) พื้นที่สัตหีบ จัดที่อาคารรับรองกองทัพเรือพื้นที่สัตหีบ และ หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง
3.) พื้นที่จังหวัดจันทบุรี จัดที่กองบัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราด
4.) พื้นที่ทัพเรือภาคที่ 2 จัดที่ฐานทัพเรือสงขลา
5.) พื้นที่ทัพเรือภาคที่ 3 จัดที่ฐานทัพเรือพังงา
6.) พื้นที่จังหวัดนราธิวาส จัดที่ค่ายจุฬาภรณ์
พร้อมทั้งจัดเตรียมโรงพยาบาลสนามสำหรับสนับสนุนกระทรวงสาธารณสุข ในกรณีที่มีผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก จำนวน 3 แห่ง ประกอบด้วย
- ศูนย์การฝึก หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี
- ค่ายพระมหาเจษฎาราชเจ้า หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี
- สนามฝึกกองทัพเรือ บ้านจันทเขลม จังหวัดจันทบุรี
ซึ่งการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม ทั้ง 3 แห่งนี้ จะใช้ในกรณีการระบาดของโรคโควิด-19 ในวงกว้าง มีความจำเป็นต้องจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดตั้งระบบบริการดูแลรักษาพยาบาล ผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค (Patients under investigated : PUI) ในกรณีที่เกินขีดความสามารถของโรงพยาบาล ตั้งแต่การคัดกรองผู้ป่วย การให้การวินิจฉัย การดูแลรักษาแบบ One Stop Services รวมถึงเพื่อให้สามารถรับผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่ได้รับการรักษาจากโรงพยาบาลแต่ต้องกักกันโรคต่อ หรือผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการไม่รุนแรง ไว้ดูแลรักษาแบบผู้ป่วยใน (เฉพาะกรณีที่มีการระบาดเป็นวงกว้าง จำนวนผู้ป่วยเกินขีดความสามารถของโรงพยาบาลหลัก และโรงพยาบาลเฉพาะโรคที่กำหนดไว้)