เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



"กอปภ.ก." ประสาน 34 จังหวัด เตรียมรับมือน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และคลื่นลมแรงในช่วงวันที่ 7 - 9 ต.ค. 63


7 ต.ค. 2563, 10:23



"กอปภ.ก." ประสาน 34 จังหวัด เตรียมรับมือน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และคลื่นลมแรงในช่วงวันที่ 7 - 9 ต.ค. 63





วันที่ 7 ต.ค. 63 เวลา 9.00 น. กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประสาน 34 จังหวัดในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ เตรียมพร้อมรับมือน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และคลื่นลมแรง ในช่วงวันที่ 7 – 9 ต.ค. 63 โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศปริมาณฝน ระดับน้ำ และแนวโน้มสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมจัดชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย รวมถึงแจ้งเตือนประชาชนติดตามพยากรณ์อากาศ และปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด

กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ระบุว่า จากการติดตามสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยาและพิจารณา
ปัจจัยเสี่ยงเชิงพื้นที่ พบหย่อมความกดออากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลางมีแนวโน้มทวีกำลังเป็นพายุดีเปรสชั่น คาดว่า จะเคลื่อนขึ้นฝั่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามตอนใต้
และจะเคลื่อนเข้าสู่บริเวณอ่าวไทยตอนบนในวันที่ 8 ตุลาคม 2563 รวมทั้งมรสุมตะวันตกฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ซึ่งปริมาณฝนสะสมอาจส่งผลให้เกิดอุทกภัย ขณะที่คลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังแรง
โดยอ่าวไทยและทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2 – 4 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 4 เมตร กอปภ.ก. จึงได้ประสาน 34 จังหวัดในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ เตรียมพร้อมรับมือน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และคลื่นลมแรง ในช่วงวันที่ 7 – 9 ตุลาคม 2563 แยกเป็น 



สถานการณ์น้ำท่วมฉับพลันน้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมขัง ดังนี้
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
ภาคกลาง 13 จังหวัด ได้แก่ ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี สมุทรสงคราม เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และนครนายก 
ภาคตะวันออก 7 จังหวัด ได้แก่ ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ภาคใต้ 9 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล

สถานการณ์คลื่นลมแรง ดังนี้
ภาคกลาง 2 จังหวัด ได้แก่ เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์
ภาคใต้ 8 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล


รวมถึงสั่งการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัยเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยในช่วงดังกล่าว โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ ปริมาณฝน พร้อมวิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงและแนวโน้มสถานการณ์ภัยต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำและพื้นที่ชุมชนเมืองที่อาจได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมขังจากปริมาณน้ำฝนสะสม พื้นที่ลาดเชิงเขา ที่อาจได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก รวมถึงจัดชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤต (ERT) รถปฏิบัติการ และเครื่องจักรกลสาธารณภัยให้พร้อมเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันที อีกทั้งประสานหน่วยงานในพื้นที่ อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสร้างการรับรู้และแจ้งเตือนประชาชนติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยอย่างใกล้ชิด

ตลอดจนประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้มงวดมาตรการความปลอดภัยทางทะเล โดยเพิ่มการติดตั้งสัญญาณแจ้งเตือนภัยบริเวณชายฝั่งทะเล จัดเตรียมเครื่องมือประจำเรือและอุปกรณ์ช่วยชีวิตทางน้ำให้พร้อมใช้งาน อีกทั้งหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง สำหรับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยสามารถติดต่อได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป 






Recommend News





MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.