"ปภ." เผย 27 จังหวัด ได้รับผลกระทบจาก "โนอึล" ประสานเร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยด่วน
21 ก.ย. 2563, 10:10
21 ก.ย. 63 เวลา 09.00 น. กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานมีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากอิทธิพลพายุ “โนอึล” และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก วาตภัย และดินสไลด์ รวม 27 จังหวัด ได้แก่ ลำปาง ลำพูน ตาก เพชรบูรณ์ เลย อุดรธานี ขอนแก่น ชัยภูมิ มุกดาหาร อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด มหาสารคาม สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ นครราชสีมา ลพบุรี ปราจีนบุรี จันทบุรี ตราด ชุมพร ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล รวม 93 อำเภอ 205 ตำบล 366 หมู่บ้าน 1 เขตเทศบาล ประชาชนได้รับผลกระทบ 1,932 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 1 ราย (ระนอง) ผู้ได้รับบาดเจ็บ 2 ราย (เพชรบูรณ์)
ซึ่ง ปภ.ได้ร่วมกับหน่วยทหาร จังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งระดมสรรพกำลังและทรัพยากรปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยด่วน
นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากอิทธิพลพายุ “โนอึล” และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ส่งผลให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักถึงหนักมากกับมีลมแรงบางพื้นที่ ทำให้เกิดสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก วาตภัย และดินสไลด์ โดยมีจังหวัดที่ได้รับผลกระทบ จำนวน 27 จังหวัด ได้แก่ ลำปาง ลำพูน ตาก เพชรบูรณ์ เลย อุดรธานี ขอนแก่น ชัยภูมิ มุกดาหาร อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด มหาสารคาม สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ นครราชสีมา ลพบุรี ปราจีนบุรี จันทบุรี ตราด ชุมพร ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล รวม 93 อำเภอ 205 ตำบล 366 หมู่บ้าน 1 เขตเทศบาล ประชาชนได้รับผลกระทบ 1,932 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 1 ราย (ระนอง) ผู้ได้รับบาดเจ็บ 2 ราย (เพชรบูรณ์) แยกเป็น
พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมฉับพลันและน้ำไหลหลาก จำนวน 20 จังหวัด 50 อำเภอ 82 ตำบล 145 หมู่บ้าน ยังคงมีสถานการณ์ในจังหวัดบุรีรัมย์ ในพื้นที่อำเภอดงแคน รวม 1 ตำบล 4 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 300 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำลดลงแต่ยังคงมีน้ำท่วมขัง 10-30 เซนติเมตร
พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากวาตภัย จำนวน 14 จังหวัด 53 อำเภอ 125 ตำบล 225 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหาย 714 หลัง ผู้ได้รับบาดเจ็บ 2 ราย
ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ประสานจังหวัด หน่วยทหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเบื้องต้น โดยขนย้ายสิ่งของไปไว้ในที่สูงและเร่งระบายน้ำท่วมขัง รวมถึงแจกจ่ายเครื่องอุปโภคบริโภค และวัสดุอุปกรณ์ซ่อมแซมบ้านเรือนแก่ผู้ประสบภัย พร้อมจัดเจ้าหน้าที่สำรวจและประเมินความเสียหาย เพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ทั้งการชดเชยความเสียหายของบ้านเรือนเป็นวัสดุก่อสร้าง หรือจ่ายเงินช่วยเหลือตามความเหมาะสม ท้ายนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป