เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



ชาวบ้านร้อง "ฟื้นฟูห้วยคลิตี้" ยังปนเปื้อนมลพิษ


16 ก.ย. 2563, 15:24



ชาวบ้านร้อง "ฟื้นฟูห้วยคลิตี้" ยังปนเปื้อนมลพิษ




วันนี้ ( 16 ก.ย. 2563 ) ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า นายสุรพงษ์ กองจันทึก ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา เปิดเผยว่า หลังศาลปกครองสูงสุดสั่งให้กรมควบคุมมลพิษฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ 8 ปี ปัจจุบันกรมควบคุมมลพิษกำลังสิ้นสุดการฟื้นฟู แต่พบว่า มีการนำตะกั่วออกจากลำห้วยคลิตี้ ไม่ถึง 1% และไม่เป็นการนำไป "กำจัดมลพิษ" ตามหลักวิชาการ ซึ่งต้องนำไปเข้าสู่โรงงานกำจัดมลพิษและฝังกลบในฟื้นที่ของโรงงาน กลับนำไปเพียงการย้ายที่ "ฝังกลบมลพิษ” ไปอยู่ในป่าเหนือลำห้วยคลิตี้

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ตะกั่วที่โรงแต่งแร่และริมลำห้วยไม่มีการนำออกไปเลย ซึ่งตะกั่วเหล่านี้เมื่อถูกน้ำฝนหรือน้ำใต้ดินก็จะไหลลงสู่ลำห้วยคลิตี้อีก ชาวบ้านจึงยังไม่สามารถใช้น้ำในลำห้วยคลิตี้ได้ และไม่สามารถจับสัตว์น้ำ พืชน้ำมากินตามวิถีชีวิตอย่างปลอดภัยได้ จึงใคร่เรียกร้องให้กรมควบคุมมลพิษเร่งทำแผนและฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้อย่างแท้จริง หลังจากใช้เงินไปร่วม 500 ล้านบาท แต่ไม่สามารถกำจัดมลพิษได้

ด้านนางสาวชลาลัย นาสวนสุวรรณ แกนนำชาวบ้านคลิตี้ล่าง กล่าวว่า การก่อสร้างฝายดักตะกอนตามแบบที่กรมควบคุมมลพิษก่อสร้างทั้งสิ้น 3 แห่งเสร็จแล้วนั้น  ชาวบ้านคลิตี้เห็นว่าเป็นการทำลายธรรมชาติ เนื่องจากเป็นการสร้างกำแพงหินปิดกั้นลำน้ำธรรมชาติ แล้วปล่อยให้น้ำซึมไหลผ่านออกมา ทำให้ปลาและสัตว์น้ำที่อยู่ด้านล่างและด้านบนถูกแบ่งแยกไม่สามารถไปมาได้ จะทำให้ระบบนิเวศทางธรรมชาติเสียไป

นางสาวชลาลัย กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้การที่กรมควบคุมมลพิษอ้างว่าฝายหินเหล่านี้ สามารถกักตะกอนและตะกั่วที่ปนเปื้อนในลำน้ำไว้ได้ เพื่อจะมีการขุดตะกอนหน้าฝายไปฝังกลับ แต่เมื่อก่อสร้างเสร็จพบว่า ไม่สามารถกรองและกักได้ น้ำในลำห้วยที่ผ่านฝายออกมาก็มีลักษณะสีขุ่นข้นเช่นเดียวกับน้ำเหนือฝาย
 
จากกรณีที่บริษัทตะกั่วคอนเซ็นเตรส ประเทศไทย จำกัด ที่ทำกิจกรรมแต่งแร่ตะกั่ว แล้วปล่อยมลพิษจากการแต่งแร่ลงสู่ลำห้วยคลิตี้ ทำให้ชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงบ้านคลิตี้ล่างที่ใช้น้ำในลำห้วยอุปโภคบริโภคเจ็บป่วยล้มตาย จนมีการฟ้องบริษัทผู้ก่อให้เกิดมลพิษ และฟ้องกรมควบคุมมลพิษที่ละเลยหรือล่าช้าไม่ทำหน้าที่ฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ให้ปราศจากมลพิษ

เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2555 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาว่า ให้ (กรมควบคุมมลพิษ กำหนดแผนงาน วิธีการ และดำเนินการฟื้นฟู ตรวจและวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำ ดิน พืชผัก และสัตว์น้ำในลำห้วยคลิตี้ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 ปี และชดใช้ค่าเสียหายให้ผู้ฟ้องคดี (ชาวบ้านคลิตี้ล่าง) เป็นเงินรายละ 177,199.55 บาท ทั้งนี้ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด

โครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่ว จังหวัดกาญจนบุรี กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ว่าจ้างบริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการ เริ่มสัญญา 16 พฤศจิกายน 2560 สิ้นสุดสัญญา 13 สิงหาคม 2563 รวมเวลาดำเนินการ 1,000 วัน โดยจะดูดตะกอนบางส่วนจากหน้าฝายดักตะกอน 4 ไปฝังกลบในหลุมฝังกลบ ใช้งบประมาณจากภาษีประชาชน 454,762,865.73 บาท

ต่อมาบริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) ขอขยายเวลาการดำเนินงานออกไปอีก 82 วัน โดยอ้างว่าติดขัดในช่วงการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งปัจจุบันกำลังเก็บรายละเอียดของงาน จะสิ้นสุดในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 นี้
 



 


 






Recommend News





MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.