ซ่อมแล้ว ! "สะพานรถไฟ" สายประวัติศาสตร์ยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2
11 ก.ย. 2563, 10:47
ผู้สื่อข่าว ONB News รายงานว่า ที่บริเวณด้านใต้ ใกล้กับสถานีรถไฟชุมทางบ้านดารา ตำบลบ้านดารา อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ ได้มีการปรับปรุงและซ่อมแซมสะพานรถไฟสู่ภาคเหนือสายประวัติศาสตร์ข้ามลำน้ำน่าน คือ สะพานปรมินทร์ ครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง หลังจากสะพานรถไฟแห่งนี้ได้รับการซ่อมสร้างเสร็จเมื่อปีพุทธศักราช 2496 ในรัชสมัยของรัชกาลที่ 6 เพราะเหตุถูกถล่มด้วยเครื่องบินทิ้งระเบิดของกองทัพญี่ปุ่นครั้งสงครามโลกครั้งที่2 หรือสงครามมหาเอเชียบูรพา การซ่อมสร้างสะพานปรมินทร์ ในครั้งนี้ มีการเปลี่ยนองค์ประกอบหลักคือแผ่นเหล็กทั้งหมด โดยเพิ่มความหนาและการยืดหยุ่นโครงสร้างจากน้ำหนักของขบวนรถไฟซึ่งสามารถรองรับได้ถึง 2 ขบวน แผ่นเหล็กทุกแผ่นมีการเจาะรูขนาดเดียวกันเพื่อใช้น๊อตบังคับการยึดเกาะของชิ้นส่วนเหล็กทั้งหมดทั้งสะพานซึ่งมีความยาว 260 เมตร โดยใช้น๊อตที่มีความแข็งเป็นพิเศษจำนวนมากกว่า 300,000 ตัว และยังทำการซ่อมสร้างทางเดินเท้าบนสะพานคู่รางรถไฟ เพื่อให้ผู้คนได้สัญจรข้ามแม่น้ำน่านไปมาสะดวกและปลอดภัยเพราะก่อนนั้นทำด้วยแผ่นไม้และเกิดการหักผุพังตามกาลเวลาเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง
สำหรับการสัญจรไปกับขบวนรถไฟสายเหนือ "สะพานปรมินทร์ " ที่อยู่ใกล้ๆกับสถานีรถไฟชุมทางบ้านดารา ตำบลบ้านดารา อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งมีเส้นทางส่วนแยกอีกแห่งหนึ่งไปสถานีปลายทางที่ สถานีรถไฟสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย สะพานปรมินทร์ นับเป็นสะพานรถไฟแห่งประวัติศาสตร์ที่สำคัญของชาติ คือได้ถูกเริ่มก่อสร้างขึ้นครั้งแรก ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ระยะเวลาที่ทำการก่อสร้างเริ่มในร.ศ.(รัตนโกสินทร์ศก)125 หรือปีพุทธศักราช 2449 สร้างเสร็จร.ศ.128 หรือพ.ศ.2452 ใช้เวลาการก่อสร้างนาน 4 ปีโดยช่างชาวเยอรมัน ส่วนแรงงานเป็นชาวบ้านคนไทย หลังจากสร้างเสร็จได้กระทำพิธีเปิดใช้สะพานปรมินทร์ เมื่อร.ศ.128 วันที่ 7 ธันวาคม 2452 หลังจากเปิดให้ขบวนรถไฟแล่นผ่านนานกว่า 36 ปี สะพานแห่งนี้ได้ถูกเครื่องบินของกองทัพญี่ปุ่นถล่มด้วยระเบิดพังพินาศ ครั้งสงครามมหาเอเซียบูรพา หรือสงครามโลกครั้งที่2 เมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2488