เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



ครั้งแรก! เรื่องจริงผ่านจอ บุกพิสูจน์   “ถ้ำนาคา” ได้ข้อมูลสำคัญ ไขปริศนา เกล็ดพญานาค


18 ส.ค. 2563, 12:06



ครั้งแรก! เรื่องจริงผ่านจอ บุกพิสูจน์   “ถ้ำนาคา” ได้ข้อมูลสำคัญ ไขปริศนา เกล็ดพญานาค




 

ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ที่มาแรงอย่างต่อเนื่อง สำหรับ “ถ้ำนาคา”  ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูลังกา อ.บึงโขงหลง จ.บึงกาฬ  กับเรื่องราวความเชื่อเกี่ยวกับ “พญานาค” อันเป็นที่มาของชื่อถ้ำ


เหตุที่ถ้ำแห่งนี้ได้ชื่อว่า “ถ้ำนาคา” หรือ “ถ้ำพญานาค” เนื่องจากมีของหินและผนังถ้ำดูคล้ายพญานาค ที่มีรูปทรงคล้ายพญานาคหรืองูขนาดใหญ่นอนขดตัว โดยมีส่วนสำคัญ ๆ ทั้งส่วนหัว ลำตัว และเกล็ดพญานาค (ตามจินตนาการและความเชื่อของชาวบ้าน)

ขณะที่ข้อมูลทางด้านธรณีวิทยาที่เป็นข้อเท็จจริงนั้นก็มีการสำรวจเพิ่มเติม โดยรายการเรื่องจริงผ่านจอ ทางช่อง7HD และคุณ ชัยพร ศิริไพบูลย์  ผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีวิทยาและถ้ำวิทยา  ที่ระบุว่า ถ้ำนาคาเป็นส่วนหนึ่งของภูเขาหินทรายชื่อ “ภูลังกา” ที่อยู่ในหมวดหินยุคครีเทเซียสตอนปลาย (ประมาณ 70 ล้านปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงท้าย ๆ ของโลกยุคไดโนเสาร์)

หินทรายบริเวณนี้นอกจากจะมีความหนาค่อนข้างมาก และเนื้อหินมีความเป็นเนื้อเดียวกัน(homogeneous) แล้ว ยังมีความพรุนสูง ซึ่งมีผลสำคัญต่อการเกิดลวดลายคล้ายเกล็ดพญานาค ส่วนตัวถ้ำนาคาหรือส่วนที่เป็นลำตัวพญานาคนั้น เกิดจากการยกตัวของแผ่นดิน (Tectonic uplift) ในภาคอีสาน ทำให้เกิด “รอยเว้าผนังถ้ำ (cave notch)” ที่มีลักษณะโค้งนูนออกมา และคั่นสลับด้วยผนังหินที่โค้งเว้าเข้าไป

จากนั้นเกิดการกัดเซาะที่เป็นวัฏจักร (Cyclic Erosion) ในยุคโลกเย็นหรือ “ยุคน้ำแข็ง” กับยุคโลกร้อนในอดีตที่เกิดสลับกันเป็นวงรอบประมาณทุก ๆ 1 แสนปี โดยมีน้ำเป็นตัวการหลักในการกัดเซาะหินลงไปตามกลุ่มรอยแตกของหินในแนวตั้งที่มีสองแนวตัดกันจนเป็นรูปตารางสี่เหลี่ยม ปรากฏการณ์เหล่านี้กินเวลายาวนานมาก จนทำให้เกิดเป็นถ้ำนาคาในปัจจุบัน ที่มีลักษณะเป็นช่องแคบตัดกันเหมือนถ้ำเขาวงกตขนาดเล็กที่ไม่มีหลังคาถ้ำ ทำให้ผนังแห่งนี้มีความโค้งและเว้าสลับกันดูคล้ายลำตัวพญานาคหรืองูยักษ์ ตามจินตนาการของชาวบ้านในแถบนั้น 



ขณะที่ในส่วนของหินที่มีลักษณะทางธรณีวิทยาคล้าย “เกล็ดพญานาค” อ.ชัยพร ได้ให้ข้อมูลว่า เกิดจากการขยายตัวและหดตัวของผิวหน้าของหิน ซึ่งกระบวนการนี้มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า “ซันแครก” ( Sun Cracks) ซันแครก จะเกิดขึ้นเป็นวัฏจักรเช่นกัน แต่เป็นวัฏจักรที่สลับปรับเปลี่ยนระหว่างความร้อนจากแสงแดดในช่วงกลางวันกับความเย็นในช่วงกลางคืน แต่กระบวนการนี้จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาที่ยาวนานมากคาดว่าจะใช้เวลานับแสนปีหรือนานกว่านั้น

นอกจากนี้ล่าสุดได้มีการตั้งชื่อก้อนหินขนาดใหญ่ที่มีบางมุมมองแล้วดูคล้ายหัวงูขนาดใหญ่ อันเป็นที่มาของชื่อ “หินหัวพญานาค”นั้น เป็นส่วนของหินที่แตก (ขนาดใหญ่) และหล่นมาจากหน้าผา โดยบริเวณส่วนหัวมีลวดลายเป็นรอยแตกของผิวหน้าของหินแบบซันแครกที่ดูคล้ายผิวหนังของงูยักษ์ไม่น้อยเลย

 

 

 

 

 

 

 


ที่มา 

เรื่องจริงผ่านจอ






Recommend News
















©2018 ONBNEWS. All rights reserved.