เปิดสาระสำคัญ! พ.ร.บ.การทวงหนี้ ห้ามทวงเกินวันละ 1 ครั้ง ห้ามดูหมิ่น ข่มขู่ ลูกหนี้
11 ส.ค. 2563, 15:28
จากกรณีที่คณะกรรมการกำกับการทวงหนี้ ได้อาศัยความตามมาตรา 9 (3) และมาตรา 16 (1) ของ พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 ที่ระบุให้เจ้าหนี้ทวงหนี้ได้ไม่เกิน 1 ครั้งต่อวัน และให้มีผลตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2562 นั้น
สาระสำคัญใน พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 มีดังนี้
- การทวงหนี้ หมายถึง การทวงหนี้ตาม พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 ไม่รวมการทวงหนี้ทั่วไป
- ผู้ทวงถามหนี้ ตามกฎหมายนี้ หมายถึง ผู้ให้สินเชื่อทางการค้าปกติ, คนที่ซื้อหรือรับโอนหนี้, ผู้ประกอบธุรกิจตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค, ผู้จัดให้มีการเล่นการพนัน
- ยกตัวอย่าง เจ้าหนี้ตามกฎหมายนี้ เช่น ธนาคาร, บริษัทบัตรเครดิต, บริษัทเช่าซื้อ หรือเจ้าหนี้เงินกู้นอกระบบ เป็นต้น
- กรณีเพื่อนยืมเงินเพื่อน ไม่อยู่ภายใต้กฎหมายนี้ จะทวงเกินวันละ 1 ครั้ง ก็ไม่ผิด
- ถ้าเจ้าหนี้ทวงหนี้เกินวันละ 1 ครั้ง จะมีความผิดทางปกครอง ซึ่งคณะกรรมการทวงหนี้ สามารถสั่งให้หยุดได้ ถ้าไม่หยุดจะโดนโทษปรับสูงสุด 100,000 บาท
- นอกจากห้ามทวงเกินวันละ 1 ครั้งแล้ว ยังมีข้อห้ามอื่น ๆ อีก ได้แก่ ห้ามพูดจาดูหมิ่นลูกหนี้, ห้ามข่มขู่ ใช้ความรุนแรง, ห้ามประจาน ฝ่าฝืนมีโทษจำคุก 5 ปี ปรับ 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- ระยะเวลาการทวงหนี้ ดังนี้ วันจันทร์-ศุกร์ 08.00-20.00 น. ส่วนวันหยุดราชการทวงได้ตั้งแต่เวลา 08.00-18.00 น. เท่านั้น ห้ามทวงหนี้กับคนที่ไม่ใช่ลูกหนี้ และห้ามเผยแพร่ข้อมูลลูกหนี้กับบุคคลอื่น
- กฎหมายกำหนดเรื่องวิธีการทวงหนี้ แต่ลูกหนี้ก็ยังต้องคืนเงินพร้อมดอกเบี้ยทั้งหมด
** หนี้นั้นจะเป็นหนี้โดยชอบ หรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็เข้าข่ายตามกฎหมายนี้ทั้งสิ้น
ข้อมูลจาก เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา, เฟซบุ๊ก Law Inspiration