พบ "นกอัญชันอกเทา" พลัดถิ่น บินอวดโฉมทางภาคใต้
14 ก.ค. 2563, 12:42
วันนี้ 14 ก.ค.63 ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า สำหรับเรื่องราวดังกล่าวได้รับฟังการบอกเล่าจากชาวบ้าน ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ ม.5 ต.ปาเสมัส อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ซึ่งเป็นหมู่บ้านเขตติดต่อกับพื้นที่ป่าพรุโต๊ะแดง โดยบังเอิญและในช่วงที่ผ่านมาเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2558 หมู่บ้านแห่งนี้ชาวบ้านเคยพบเห็นผีเสื้อมอท หางยาวตาเคียวปีกลายหยัก เพศผู้ ชื่อทางวิทยาศาสตร์ คือ Actias maenas มีลักษณะลำตัวมีขนหนา คล้ายว่าวจุฬา พื้นสีเหลือง ลวดลายสีน้ำตาลกลมกลืนกัน ซึ่งด้านบนสุดของปีกมีลักษณะเหมือนเขาควาย มีลำตัวยาว 15 ซม. ปีกกว้าง 13 ซม. จัดเป็นแมลงคุ้มครองอีกชนิดหนึ่งของประเทศไทย พบเห็นในพื้นที่ประเทศอินเดีย จีน เมียนมาร์ มาเลเซีย อินโดนีเซียและไทย โดยเฉพาะประเทศไทยซึ่งถือว่าจะพบเห็นผีเสื้อพันธุ์ดังกล่าวค่อนข้างยากมาก เมื่อบินมาให้ชาวบ้านได้ยลโฉมและถ่ายภาพไว้เป็นที่ระลึกแล้ว ผีเสื้อตัวดังกล่าวได้บินหายไปในพื้นที่ป่าพรุโต๊ะแดง
และมาครั้งนี้ชาวบ้านได้พบเห็นนกอัญชันอกเทา หรือ Slaty breasted Rail ซึ่งเป็นนกอัญชัน 143 ชนิดทั่วโลก และเป็น 1 ใน 15 ชนิดที่มีอยู่ประเทศไทย ที่ยลโฉมยากทางภาคใต้ มีลักษณะปากเรียวแหลมสีน้ำตาลแดง หน้าผากถึงท้ายทอยสีน้ำตาล หน้า คอและอกสีเทา ลำตัวด้านบนสีเทาเข้มมีลายขีดสีขาวกระจายเป็นแนวขวาง หน้าท้องสีเทาข้างลำตัวมีลายขีดสีขาวสลับสีดำถึงโคนหาง แข้งและตีนสีเทาออกค่อยข้างเป็นสีดำ หากดูผิวเผินคล้ายลูกไก่ ถิ่นอาศัยจะเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำแถบป่าชายเลน ในพื้นที่ภาคกลางตอนล่าง รวมถึงป่าชายเลนตามแนวชายฝั่งทั้งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน แต่มีรายงานการพบนกชนิดนี้ที่ความสูงถึง 1,850 เมตร ในประเทศศรีลังกาและหมู่เกาะอันดามัน มาคุ้ยเขี่ยกินแมลงและลงเล่นน้ำข้างบ้านของชาวบ้าน เป็นเวลา 4 วันติดต่อกัน และด้วยสัญชาตญาณของนกอัญชันอกเทา เป็นสัตว์ที่หากินตามลำพังและเป็นสัตว์ที่ค่อยข้างตกใจง่าย ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการบันทึกภาพ ต้องใช้ความอดทนถึง 3 วัน ที่จะนำภาพนกอัญชันอกเทามาให้ได้ยลโฉมกัน ก่อนที่นกอัญชันอกเทาจะบินมุ่งหน้ากลับไปยังป่าพรุโต๊ะแดงไป