เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



“ดร.สังศิต” บินด่วนขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาน้ำอย่างยั่งยืน


6 มิ.ย. 2563, 15:54



“ดร.สังศิต” บินด่วนขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาน้ำอย่างยั่งยืน




วันที่  6 มิ.ย. 63 ที่ห้องประชุมกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 23 อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา เดินทางเข้าสร้างความรู้ ความเข้าใจ ในเรื่องแหล่งน้ำขนาดเล็กเพื่อการแก้ไขปัญหาความยากจนฯ ในพื้นที่จังหวัดสกลนคร โดยมี นายชัยมงคล ไชยรบ นายก อบจ.สกลนคร รศ.ดร.ศักดิ์ไทย สุรกิจบวร สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดสกลนคร นายเกียว แก้วสุทอ สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดสกลนคร พร้อมคณะผู้บริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจากจังหวัดสกลนคร จังหวัดนครพนมและจังหวัดมุกดาหาร ให้การต้อนรับ พร้อมรับฟังรูปแบบการแก้ไขปัญหาเรื่องของน้ำแล้ง ในรูปแบบ 10 แนวทางพัฒนาเพื่อท้องถิ่นพึ่งพาตนเอง ประกอบด้วย

 

รูปแบบบ่อบาดาลน้ำตื้น รูปแบบสระซอยซีเมนต์ รูปแบบชุดสูบน้ำโซล่าเซลล์ ซับเมอร์สแบบบัสเลสและชุดโครงสร้างรับแผงโซล่าเซลล์พร้อมอุปกรณ์ รูปแบบชุดหอถังพักน้ำ รูปแบบชุดระบบกระจายน้ำ รูปแบบฝายต้นน้ำแกนซอยซีเมนต์ รูปแบบฝายในลำห้วยแกนซอยซีเมนต์ รูปแบบฝายในลำน้ำแกนซอยซีเมนต์ รูปแบบธนาคารน้ำ 3 ประโยชน์หรือบ่อน้ำตื้น รูปแบบบ่อเติมน้ำลงสู่ชั้นใต้ดิน ที่ทางประธานคณะกรรมาธิการการแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา ได้แถลงต่อเวทีการประชุมวุฒิสภาครั้งที่ 3 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1 จากนั้น ได้พร้อมคณะ ได้ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ของทางกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 23 สำรวจปริมาณน้ำของ อ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้น  เขื่อนน้ำอูน เขื่อนน้ำพุง ประตูน้ำสุรัสวดี ลำน้ำก่ำ และสภาพภัยแล้งของอำเภอเต่างอย ซึ่งพบว่าปริมาณน้ำเก็บกักยังมีน้อย

 

จากนั้น ทางคณะฯได้เข้าเยี่ยมชมนิทรรศการ ที่ทางศูนย์ปฏิบัติการบรรเทาภัยอันเกิดจากน้ำนำมาจัดแสดง โดยมีนายภัทรพล ณ หนองคาย ผอ.ศูนย์ฯ พร้อมทีมที่ปรึกษาซึ่งเป็นจิตอาสาของศูนย์ฯ ได้นำชมและบรรยายองค์ความรู้รูปแบบการได้มาซึ่งน้ำดิบด้วยต้นทุนที่ต่ำ  สำหรับใช้ในงานภาคเกษตรกรรม ด้วยการใช้นวัตกรรมต่างๆ ที่ทางศูนย์ฯ ได้จัดทำขึ้นในรูปแบบ 10 แนวทางพัฒนาเพื่อท้องถิ่นพึ่งพาตนเอง ซึ่งได้รับความสนใจจากคณะที่เข้าชมเป็นอย่างมาก โดยนายชัยมงคล ไชยรบ นายก อบจ.สกลนคร กล่าวว่า ในเบื้องต้นจะได้ดำเนินการจัดหาพื้นที่และงบประมาณ เพื่อนำมาจัดทำเป็นโครงการนำร่องตาม 10 แนวทางฯ ที่ได้รับข้อมูลและความรู้ ให้ทางผู้นำ อปท.ภายในจังหวัด ประชาชนและเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง ได้เข้าศึกษา ตามแนวทางช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ของรัฐบาลต่อไป

 

ซึ่งภายหลังบินสำรวจแล้ว  ทั้ง 2 วัน ในพื้นที่จังหวัดสกลนคร และจังหวัดนครพนมแล้ว  รศดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ วุฒิสภา กล่าวว่า   จากการลงพื้นที่ดูสภาพแหล่งน้ำทั้งในจังหวัดสกลนคร และนครพนม ทั้ง 2 วันที่ผ่านมา  พบว่าหนองหารเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่และสำคัญมาก  กฎหมายเดิมซึ่งออกเมื่อปี พ.ศ. 2484 นั้นอาจไม่สอดรับกับภาวการณ์ในปัจจุบัน ซึ่งตรงนี้ควรมีการทบทวนเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่เกษตรกรให้มากยิ่งขึ้น  จ.สกลนคร ถือเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์  เพราะมีห้วย หนองคลองบึง อยู่เป็นจำนวนมาก   สำหรับหนองหารก็มีผลทั้งต่อสกลนคร รวมถึงนครพนม  ดังนั้นการแก้ปัญหาทั้งภัยแล้งและอุทกภัยอย่างยั่งยืนนั้น  ควรเพิ่มพื้นที่เก็บกักน้ำของหนองหารให้มากขึ้น  ส่วนน้ำก่ำ ก็พบว่ามีน้ำไม่เพียงพอต่อภาคการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง   การแก้ปัญหาโดยการนำยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแหล่งน้ำที่เหมาะที่สุด คือการนำยุทธศาสตร์การจัดการน้ำในแหล่งน้ำขนาดเล็กมาใช้  

 

โดยเฉพาะฝายซอยซีเมนต์ จะตอบโจทย์การอนุรักษ์น้ำในช่วงฤดูแล้งได้เป็นอย่างดี  เกษตรกรมีน้ำใช้ได้ทั้งปี  และใช้งบประมาณที่ไม่มาก   โดยสามารถปรับใช้ได้ในทุกแหล่งน้ำในภาคอีสาน  หลังมีแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์แล้ว เกษตรกรควรแบ่งพื้นที่การเพาะปลูก ซึ่งจากเดิมที่นิยมทำนาเพียงอย่างเดียว ให้หันมาปลูกผลไม้เศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น เช่น ทุเรียน มังคุด เงาะ ฯ  โดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกับจังหวัด  บูรณาการการทำงานร่วมกันในการส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีแก่เกษตรกร  โดยการทำแผนการเกษตรที่ชัดเจน  ลดปัญหาหนี้สินเกษตรกร   ทั้งในระดับจังหวัด ตลอดจนภูมิภาค เมื่อทุกลุ่มน้ำในภาคอีสานขับเคลื่อนไปพร้อมกัน  และภาคการเกษตรซึ่งเป็นรากฐานของชาติมั่นคงดีแล้ว  ก็จะส่งผลต่อเศรษฐกิจในระดับประเทศที่จะเจริญเติบโตอย่างมั่งคงและยั่งยืนต่อไป  รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์  กล่าว

 

//////////////////////////// วัฒนะ แก้วก่า / สกลนคร 081-9541528









Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.