"นายวรเทพ สกุลพิชัยรัตน์" ชี้แนะสร้างภูมิคุ้มกันยาเสพติด ส่งมาทางไปรษณีย์
8 ก.ค. 2562, 14:57
นายวรเทพ สกุลพิชัยรัตน์ อัยการจังหวัดคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสกลนคร เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากข่าวนักศึกษาหญิงชาวจังหวัดร้อยเอ็ด ถูกตำรวจจับกุม โดยมีผู้ส่งยาเสพติดทางไปรษณีย์มาให้ และถูกควบคุมตัวในเรือนจำอยู่ในขณะนี้ โดยในข่าวตามที่สื่อมวลชนเสนอข่าวว่า ผู้ส่งคือเยาวชน อายุ 17 ปี แต่มีผู้ว่าจ้างคือผู้ใหญ่ และ ชื่อของผู้ส่งที่ปรากฏ กลับไม่ใช่ชื่อที่มีตัวตนจริง สิ่งเหล่านี้บ่งบอกอะไรให้กับเรา และขณะนี้ มีข่าวการส่งยาเสพติดทางไปรษณีย์ ทางพัสดุ ซึ่งตอนนี้ ธุรกิจการรับส่งพัสดุเกิดขึ้นมากมาย หากเรืองนี้เกิดกับเราควรจะทำอย่างไร ในฐานะ คนทำงานด้านกฎหมาย เห็นว่าหากมีคนส่งพัสดุมาให้เรา หากเราไม่ได้สั่งให้ใครส่งของมาให้เรา หรือ เราไม่ได้สั่งซื้อสินค้าอะไร เราก็ไม่ควรรับ หรือไม่ควรเซ็นรับพัสดุซึ่งไม่ทราบ หรือ ไม่รู้จักผู้ส่งของมาให้เรา นอกจากนี้เราไม่ควรอนุญาตให้ใครยืมชื่อ หรือ ยืมที่อยู่เพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดส่งของมา พึงสังวรณ์เสมอว่า อาจเป็นยาเสพติด หรือ เป็นสิ่งของผิดกฎหมายก็ได้ การมียาเสพติดไว้ในครอบครอง หรือ มียาเสพติดไว้ในความครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยผิดกฎหมายนั้น
อัยการจังหวัดคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสกลนคร กล่าวต่อว่า จะต้องได้ความว่าผู้กระทำมีเจตนาครอบครอบครองยาเสพติดหรือ เจตนามียาเสพติดไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย คำว่า เจตนาหมายถึง รู้สำนึกและรู้ว่าสิ่งนั้นคือยาเสพติด และมีเจตนามีไว้ในความครอบครองของตนโดยผิดกฎหมายหรือ เจตนามีไว้ในความครอบครองเพื่อจำหน่าย หากตนไม่รู้ว่าสิ่งของที่อยู่ภายในกล่องพัสดุนั้นคือยาเสพติด ก็ยังไม่อาจรับฟังว่า ผู้นั้นมีเจตนามียาเสพติดไว้ในครอบครอง หรือ เจตนามีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย แต่ว่าผู้รับสิ่งของนั้น จะมีพยานหลักฐานใดมาพิสูจน์ยืนยันว่าตนไม่รู้ว่า ภายในกล่องพัสดุภัณฑ์นั้นมียาเสพติดอยู่ข้างใน จะเห็นได้ว่า มีการใช้เด็กและเยาวชนเป็นเครื่องมือ ซึ่งบทลงโทษสำหรับเด็กและเยาวชน จะมีบทลงโทษที่น้อยกว่า ซึ่งตาม พ.ร.บ. ศาลเยาวชนฯ พ.ศ.2553 และที่แก้ไข ยังเปิดโอกาสให้ศาลใช้ดุลพินิจ กำหนดมาตรการแทนคำพิพากษา ตามมาตรา 132,133 อีก ทำให้เด็กและเยาวชนอาจจะไม่เข็ดหลาบ จึงทำให้ผู้ใหญ่มักใช้เด็กเป็นเครื่องมือ ทั้งโดยเด็กเองสมัครใจและบางครั้งไม่สมัครใจ (ถูกหลอก) ก็มี
“ดังนั้น การสร้างภูมิคุ้มกัน ก็คือ ไม่รับสิ่งของที่ไม่รู้จักผู้ส่ง หรือ ที่มาของสิ่งของนั้น ไม่ยอมให้ผู้อื่นยืมชื่อที่อยู่ของเราในการรับพัสดุภัณฑ์ และหากไม่แน่ใจว่า สิ่งของภายในเป็นอะไร ก็ควรมีพยานในการเปิดกล่องพัสดุ หรือ บันทึกภาพการแกะกล่อง หีบห่อ หรือ ควรเปิดกล่องหรือหีบห่อนั้นทันที เมื่อได้รับของ (ต่อหน้าคนส่งของ) เพราะนั่นหมายถึง การแสดงเจตนาบริสุทธ์ของเราว่า เราไม่รู้ว่า สิ่งของภายในกล่องพัสดุนั้น เป็น ยาเสพติด หรือ สิ่งของผิดกฎหมาย เพราะคงไม่มีใคร เปิดเผยให้บุคคลภายนอกหรือ ผู้ส่งของรู้ว่า ตนเองรับยาเสพติด หรือ สิ่งของผิดกฎหมาย มาจากกล่องพัสดุภัณฑ์นั้น ผมเห็นว่า กระบวนการตรวจสอบเอกสารหลักฐานผู้ส่ง ชื่อที่อยู่ผู้ส่ง ควรให้ผู้ดำเนินธุรกิจรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ทั้งภาครัฐและเอกชน ต้องตรวจสอบให้เข้มงวดกว่านี้ และ ผู้ประกอบธุรกิจจัดส่งพัสดุควรต้องมีกล้องวงจรปิดที่สามารถบันทึกผู้มาส่งพัสดุให้เห็นชัดเจน เพื่อเป็นการช่วยกันป้องกันมิให้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการจัดส่งยาเสพติด สิ่งของผิดกฎหมาย”