นายกฯ นั่งหัวโต๊ะถกบอร์ด EEC พิจารณาโครงการพัฒนา "สนามบินอู่ตะเภา-เมืองการบินภาคตะวันออก"
21 พ.ค. 2563, 15:40
วันนี้ ( 21 พ.ค.63 ) พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการ นโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 2/2563 พิจารณา โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และ เมืองการบินภาคตะวันออก มีวัตถุประสงค์ที่จะพัฒนา “เมืองการบินภาคตะวันออก” ในพื้นที่ 6,500 ไร่ บริเวณสนามบินอู่ตะเภา โดยมี 6 กิจกรรม สําคัญ ได้แก่ 1) อาคารผู้โดยสารหลังที่3 (PassengerTerminalBuilding3) 2) ศูนย์ธุรกิจการค้าและการขนส่งภาคพื้นดิน (Commercial Gateway and Ground Transportation Centre) 3) ศูนย์ซ่อมบํารุงอากาศยาน (Maintenance Repair and Overhaul) 4) เขตประกอบการค้าเสรีและเขตธุรกิจเกี่ยวเนื่อง(CargoVillageorFreeTradeZone) 5) ศูนย์ธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศและโลจิสติกส์ (CargoComplex) 6)ศูนย์ฝึกอบรมการบิน (Aviation Training Centre)
โดย EEC วางยุทธศาสตร์ให้ เมืองการบินภาคตะวันออก เป็น “สนามบินกรุงเทพฯ แห่งที่ 3 เชื่อมสนามบินดอนเมือง และสุวรรณภูมิ ด้วยรถไฟความเร็วสูง เป็นศูนย์กลางการพัฒนาธุรกิจเป้าหมายโดยเฉพาะการเป็น “ศูนย์กลางอุตสาหกรรม ท่องเที่ยว และ Logistics & Aviation” ของ EEC เป็นศูนย์กลางของ “มหานครการบินภาคตะวันออก” ที่จะครอบคลุมการพัฒนาพื้นที่เมือง ประมาณ 30 ก.ม. โดยรอบสนามบิน (เมืองพัทยา ถึง ตัวเมืองระยอง) ซึ่งเป็นการสานต่อเจตนารมณ์ของการพัฒนา Eastern Seaboard ที่ต้องการให้เกิดเป็นเมืองท่าและเมืองธุรกิจสำคัญของประเทศไทย โดยเข้าเชื่อมโยงเป็นส่วนขยายของ กรุงเทพฯ และปริมณฑลไปทางตะวันออก ที่สามารถเชื่อมโยงกันได้สะดวกทั้งทางน้ำ (เรือและท่าเรือ) ทางบก (ทาง ด่วน รถไฟ และ รถไฟความเร็วสูง) และทางอากาศ (สนามบิน)
ทั้งนี้ทางคณะกรรมการนโยบายฯ วางยุทธศาสตร์ทั้ง 2 โครงการ เป็นโครงการร่วมที่สร้าง ประโยชน์ให้กันและกัน ดังนั้นเพื่อให้การพัฒนาโครงการ และการให้บริการทั้ง 2 โครงการ เป็นไปอย่างสอดคล้อง เชื่อมโยง จึงได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการร่วมประสานงาน โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และโครงการ พัฒนาสนามบินอู่ตะเภา เพื่อให้มีการทำงานอย่างบูรณาการเป็นไปตามแผนงานที่กำหนดเชื่อมโยงแผนงานการก่อสร้าง และแผนการเปิดบริการให้สอดคล้องหรือพร้อมกันได้ โดยสนามบินอู่ตะเภาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับโครงการรถไฟความเร็วสูงและสร้างความต้องการทำให้ ปริมาณผู้โดยสารรถไฟความเร็วสูงเพิ่มขึ้น และรถไฟความเร็วสูงทำให้การเดินจากกรุงเทพมายังสนามบินอู่ตะเภาเป็นไปอย่างไร้รอยต่อส่งผล ให้ได้รับความนิยมและความสะดวกสบายยิ่งขึ้นในการใช้สนามบิน