ใกล้ได้ฤกษ์เริ่มทดลอง "ฟ้าทะลายโจร" ใช้รักษาผู้ป่วย โควิด-19 แล้ว
5 พ.ค. 2563, 13:16
วันที่ 5 พฤษภาคม 2533 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นพ.มรุต จิรเศรษฐสิริ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เปิดเผยถึงความคืบหน้าของโครงการ ว่า ขณะนี้ยังไม่ได้เริ่มทำการรักษาในผู้ป่วยโควิด-19 เนื่องจาก 1.จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ ในกรุงเทพมหานคร(กทม.) ขณะนี้มีจำนวนไม่มาก ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดี ที่ไม่พบผู้ป่วยรายใหม่จำนวนมาก 2.โครงการวิจัยนี้ได้ผ่านความเห็นของคณะกรรมการจริยธรรมของกรมการแพทย์แผนไทยฯแล้ว เมื่อวันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมา และจะต้องส่งเรื่องยื่นต่อคณะกรรมการจริยธรรมของสถาบันบำราศฯ ภายในเร็วๆ นี้
นพ.มรุต กล่าวต่อว่า หากกระบวนการดังกล่าวเสร็จสิ้นทั้งหมดแล้ว ก็จะพร้อมเริ่มการวิจัยทันทีเมื่อมีผู้ป่วยที่อาการน้อยเข้ารับการรักษาที่สถาบันบำราศฯ ก็สามารถเริ่มการทดลองใช้สารสกัดจากฟ้าทลายโจร ด้วยสารแอนโดรกราโฟไลด์(Andrographolide) แบ่งเป็น กลุ่มที่ 1 จะได้รับปริมาณ 0.64 ไมโครกรัม ซึ่งคิดเป็น 3 เท่าจากขนาดปกติ(ขนาดปกติประมาณ 0.1 ไมโครกรัม) เป็นเวลาวันละ 3 ครั้ง ในระยะเวลา 5 วัน กลุ่มที่ 2 จะได้รับปริมาณ 1.00 ไมโครกรัม ซึ่งคิดเป็น 5 เท่าจากขนาดปกติ เป็นวันละ 3 ครั้ง ในระยะเวลา 5 วัน
นอกจากนี้ นพ.มรุต กล่าวว่า ทั้งนี้ กระบวนการรักษาคือ จะให้ใช้สารสกัดฟ้าทลายโจร ในผู้ป่วยที่มีอาการน้อย เพื่อสังเกตอาการว่ามีการตอบสนองอย่างไร เช่น ไข้ลดลงเร็วกว่าปกติหรือไม่ อาการปวดศรีษะลดลงหรือไม่ และที่สำคัญคือจะต้องมีการตรวจ RT-pcr ซึ่งเป็นวิธีมาตรฐานในการตรวจหารหัสพันธุกรรมของไวรัส พร้อมทั้งนำเข้ากระบวนการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ที่ได้รับการสนับสนุนจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยจะตรวจเป็นระยะๆ เพื่อประเมินว่าเมื่อได้รับสารสกัดจากฟ้าทลายโจรแล้วผลการตรวจมีผลอย่างไรบ้าง
“ที่จะต้องนำไปเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เพราะว่าจะต้องดูว่า ยังมีเชื้อเป็นอยู่หรือไม่หรือเป็นเพียงซากของเชื้อไวรัส พร้อมทั้งยังมีการส่งตรวจเอนไซม์ต่างๆ ที่ร่างกายหลั่งออกมาจัดการกับเซลล์ที่ติดเชื้อโควิด-19 ให้แตกตัวไปและไม่มีการแบ่งเซลล์ต่อ แต่ปรากฏว่า เอนไซม์เหล่านี้ไปทำลายเซลล์ปกติด้วยซึ่งทำให้ปอด/หัวใจถูกทำลาย เป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยอาการหนัก เนื่องจากการที่เอนไซม์หลั่งออกมามากเกินไป โดยการศึกษาฟ้าทลายโจรมีหลักฐานว่าสารสกัดจากฟ้าทลายโจรสามารถยับยั้งในส่วนนี้ได้ อาจจะได้ไม่หมด แต่ก็ต้องศึกษาว่ามีการช่วยให้ลดลงได้มากแค่ไหน” นพ.มรุต กล่าว