"ผู้พิทักษ์สิทธิ์" ลงพื้นที่ถามข้อมูลเพิ่มเติมผู้อุทธรณ์รับเงินเยียวยา "เราไม่ทิ้งกัน" 5,000 บาท
29 เม.ย. 2563, 09:50
วันที่ 29 เม.ย. 63 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเกษมศานต์ หลิมนุกูล ผอ.ธกส.จังหวัดพังงา พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ ธกส.สาขาโคกกลอย ลงพื้นที่บ้านสามช่องเหนือ หมู่ 9 ต.กะไหล อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา จากที่ประชาชนได้ลงทะเบียน “เราไม่ทิ้งกัน” เพื่อขอรับเงินเยียวยา 5,000 บาท/เดือน เป็นเวลา 3 เดือน ตามมาตรการของรัฐในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 แต่ไม่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติและได้รับการแจ้งว่าไม่ได้รับสิทธิ์เยียวยา ทางกระทรวงการคลังเปิดช่องทางยื่นอุทธรณ์เพื่อขอทบทวนสิทธิ์ได้ในเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน .com นั้น เจ้าหน้าที่ธนาคาร ธ.ก.ส. ได้ปฏิบัติภารกิจเป็น “ผู้พิทักษ์สิทธิ์” พูดคุยสอบถามประชาชนผู้ที่ยื่นขอทบทวนสิทธิ์ด้วยตัวเองถึงความยากลำบากในสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ผู้ขอทบทวนสิทธิ์ที่เป็นลูกค้าของธนาคารเฉพาะกิจของรัฐประกอบด้วย ธ.ก.ส. ออมสิน กรุงไทย ให้ผู้พิทักษ์สิทธิ์ของธนาคารนั้นๆรับผิดชอบในการตรวจสอบข้อมูล ผู้ขอทบทวนสิทธิ์ในส่วนที่เหลือ ให้เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานคณะผู้บริหารการคลังประจำจังหวัดในระดับอำเภอเป็นผู้รับผิดชอบในการตรวจสอบข้อมูล ธ.ก.ส.พังงา ได้รับมอบหมายรายชื่อจากกระทรวงการคลังรอบแรก เมื่อวันที่ 23 เม.ย.63 จำนวน 144 ราย ประกอบด้วย อ.ตะกั่วทุ่ง 28 ราย อ.เมืองพังงา 22 ราย อ.ตะกั่วป่า 20 ราย อ. ท้ายเหมือง 25 ราย อ.ทับปุด 19 ราย อ.คุระบุรี 12 ราย อ.กะปง 9 ราย อ.เกาะยาว 9 ราย ซึ่งทุกอำเภอเรามีทีมผู้พิทักษ์สิทธิ์ที่ได้รับการแต่งตั้งทุกอำเภอ รวม 52 คน และได้ลงพื้นที่สำรวจทบทวนสิทธิ์ให้แก่ผู้ที่มีรายชื่อขอทบทวนสิทธิ์แล้ว
โดยนายหมูด สีหมาด อายุ 61 ปี เรือบริการนักท่องเที่ยวอ่าวพังงา กล่าวว่า หลังจากสถานการณ์โควิด 19 ตนเองไม่ได้ขับเรือบริการนักท่องเที่ยวทำให้ไม่มีรายได้ เมื่อลงทะเบียนเงินเยียวยา 5,000 บาท ถูกปฏิเสธโดยให้เหตุผลว่าเป็นเกษตรกร เมื่อทางผู้พิทักษ์สิทธิ์เข้าสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมตามความจริง จึงมีความหวังที่จะได้รับเงินเยียวยาดังกล่าวขึ้นมาอีกครั้ง
ด้านนายเกษมศานต์ หลิมนุกูล ผอ.ธกส.จังหวัดพังงา กล่าวว่า ทางผู้พิทักษ์สิทธิ์ จะมีการโทรนัดผู้ได้รับการให้ทบทวนสิทธิ์ ให้รออยู่ที่บ้าน หรือที่นัดหมาย เช่น อบต. เทศบาล โดยท่านไม่ต้องมาที่ธนาคาร และสิ่งที่ผู้ยื่นขอทบทวนสิทธิ์ต้องเตรียมให้พร้อมคือ บัตรประจำตัวประชาชนตัวจริง เพื่อยืนยันตัวตน เอกสารการประกอบกิจการ/ที่ตั้งร้าน หรือรูปถ่ายแสดงถึงการทำงาน หรือประกอบกิจการ เพื่อยืนยันว่าประกอบอาชีพจริงและได้รับความเดือดร้อนจริง ส่วนการดำเนินการผู้พิทักษ์สิทธิ์ จะเปิดแอปพลิเคชันผู้พิทักษ์ เพื่อถ่ายรูปเอกสารต่าง ๆ เช่น รูปบัตรประชาชน ใบหน้าผู้ยื่นขอทบทวนสิทธิ์ เอกสารประกอบ ถ่ายรูปผู้ยื่นกับร้าน หรือที่ทำงาน เสร็จแล้วจะกดบันทึกข้อมูลในแอปพลิเคชัน เพื่อนำไปประมวลผลประกอบการพิจารณา ผู้พิทักษ์ไม่มีอำนาจในการตัดสินใจผลการพิจารณา เป็นเพียงผู้เก็บข้อมูล ตามความเป็นจริงที่ผู้ขอทบทวนสิทธิ์ได้แสดงหลักฐานต่อเจ้าหน้าที่ และทำการส่งข้อมูลเข้ากระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณาตามคุณสมบัติของมาตรการฯ ดังนั้น ผู้พิทักษ์สิทธิ์จะไม่สามารถให้คำตอบได้ว่าผู้ยื่นขอทบทวนสิทธิ์แต่ละรายจะผ่านเกณฑ์การพิจารณาหรือไม่