ชาวสตูลแห่เก็บ "ลูกหว้าโหล" กินและขายสร้างรายได้ ช่วงพิษโควิด-19
28 เม.ย. 2563, 17:23
วันที่ 28 เมษายน 2563 ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า ยุคโรคระบาดโควิด–19 ที่แพร่ระบาดทำให้หลายครอบครัวต้องดิ้นรนสู้ชีวิตทำมาหากิน สร้างรายได้ เช่นเดียวกับชาวพี่น้องในพื้นที่อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล โดยเฉพาะช่วงนี้เป็นช่วงผลไม้ตามฤดูกาลอย่างเช่น ลูกหว้า มี 2 สายพันธุ์ 1.พันธุ์พื้นเมือง หรือที่เรียกภาษาชาวบ้านว่า (หว้านา) 2.พันธุ์หว้าโหล ลักษณะใบจะใหญ่ ลูกใหญ่ แถมบางต้น เก่าแก่ อายุถึง 220 ปี หรือ 3 ชั่วอายุคน
ด้านนาง เสนียน ทองดี อายุ 71 ปี 26/1 ม.3 ต.ทุ่งหว้า อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล เจ้าของต้นลูกหว้าโหลที่เก็บจากต้น บอกว่า ช่วงนี้เป็นฤดูที่ลูกหว้าออกลูกดกในช่วงประมาณ ปลายๆ เดือนเมษายนนี้ เพราะถือว่า 1 ปี ออกลูกครั้งหนึ่ง ลูกจะดำดกออกเป็นช่อ เป็นพวงสวยงาม เพราะเป็นต้นไม้ยืนต้นสูง ก็จะเก็บขาย ให้เด็กๆขึ้นไปเก็บบ้างให้เงินกินขนม 10 บาท หากวันไหนเด็กๆ ไม่อยู่ใช้แบบสอยและใช้เสื้อปูรองใต้ต้นลูกหว้าโหลแล้วขย่มเขย่าต้นจนร่วงลงมาจากนั้นคัดแยกลูกไม่ช้ำ ล้างใส่ถุง ถุงละ 10 บาท หากส่งขายให้พ่อค้าแม่ค้ามารับซื้อตกกิโลกรัมละ 40 – 50 บาท คนจะซื้อไปจิ่มเกลือทานอร่อยออกเปรี้ยวๆ ลูกดำทานเยอะปากและฟันจะดำแต่ลูกหว้านี้เป็นผลไม้มีมานานสมัยปู่เฒ่าจนถึงปัจจุบันนี้แต่ก็เริ่มหายากแล้ว
ด้านนางวรรณนภา คงเคว็จ เกษตรอำเภอทุ่งหว้า กล่าวว่า ลูกหว้ามี 2 สายพันธุ์ในพื้นที่จังหวัดสตูล เป็นผลไม้ยืนต้นที่มีเยอะในพื้นที่อำเภอทุ่งหว้า ลูกหว้าที่เก็บขายเป็นลูกหว้าพันธุ์ ลูกใหญ่ขายอยู่กิโลกรัมละ 50 บาท ส่วนลูกหว้าสายพันธุ์พื้นเมือง เรียกลูกหว้านา เป็นลูกเล็กๆ แต่ที่ขายกันคือลูกหว้าโหล หากินได้ปีละ 1 ครั้งในช่วงนี้ จะออกผลปลายเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายนนี้ และเราจะนำไปต่อยอดทำวายลูกหว้า ทำแยมลูกหว้า
นาย ดารา หีมปอง อายุ 75 ปี 63ม.4 ต.ทุ่งหว้า อ.ทุ่งหว้า ประชาสัมพันธ์อาวุโสเทศบาลตำบลทุ่งหว้า กล่าวว่า ต้นลูกหว้ามีมานานและในพื้นที่จะมีอยู่ในอำเภอทุ่งหว้า ส่วนอำเภออื่นมีแต่ก็ไม่เยอะ อำเภอทุ่งหว้า ก็ต้องมีลูกหว้าเป็นของคู่กัน
ด้านนาย ดาหมาด หีมปอง อายุ 71 ปี 5 ม.1 ต.ทุ่งหว้า อ.ทุ่งหว้า อดีตผู้ใหญ่บ้าน กล่าวว่า บางต้นมีอายุเป็น 100 กว่าปี บางต้นมี 200 กว่าปี ตนเองจะไม่โค้นทิ้งให้ลูกหลานได้รู้จักเอาไว้กินลูก