เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



ศบค.แจงปรับการทำงานเชิงรุก ลุยตรวจโควิด-19 หลายจังหวัด โดยเฉพาะพื้นที่สีแดง


24 เม.ย. 2563, 16:53



ศบค.แจงปรับการทำงานเชิงรุก ลุยตรวจโควิด-19 หลายจังหวัด โดยเฉพาะพื้นที่สีแดง




วันนี้ (24 เม.ย.63) เวลา 11.30 น. ณ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวัน และมาตรการในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) สรุปสาระสำคัญ ดังนี้ 

1. สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ในไทย 
 
สถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด -19) ในประเทศไทยวันนี้ มีผู้ป่วยที่อาการดีขึ้นกลับบ้านได้ 60 ราย รวมผู้ที่หายป่วยแล้ว 2,490 ราย มีผู้ป่วยรายใหม่ 15 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 2,854 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ตัวเลขผู้เสียชีวิตคงเดิมที่ 50 ราย กลุ่มอายุของผู้ป่วยที่มากที่สุดคือ 20-29 ปี ด้านผู้ป่วยที่ยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล ลดลงเหลือ 314 ราย ต้องขอขอบคุณบุคลากรทางการแพทย์ทุกคนที่ดูแลผู้ป่วยด้วย สำหรับผู้ป่วยใหม่ 15 รายนี้ จำแนกเป็น 11 รายเป็นผู้ป่วยจากระบบการเฝ้าระวังและระบบบริการ โดย 9 รายเกี่ยวข้องกับการสัมผัสกับผู้ป่วยที่ยืนยันก่อนหน้านี้ ซึ่ง 9 รายนี้พบที่กรุงเทพฯ 4 ราย ภูเก็ต 4 ราย สงขลา 1 ราย  ส่วนที่ไปสถานที่ชุมนุมชน ห้างสรรพสินค้า ตลาดนัด สถานที่ท่องเที่ยว พบที่ปทุมธานี ไปตลาดบางปะอิน ปทุมธานีคลองหนึ่ง จำนวน 1 ราย สมุทรปราการ 1 ราย ด้านการค้นหาเชิงรุกที่จังหวัดยะลา พบผู้ป่วย  4 คน รวมเป็น 15 คน
 
โฆษก ศบค. กล่าวถึงการกระจายตัวของผู้ป่วยใน 10 จังหวัดแรกที่มีจำนวนมากที่สุด ยังเป็นกรุงเทพฯ 1,457 ราย ภูเก็ต 200 ราย นนทบุรี 152 ราย สมุทรปราการ 111 ราย ยะลา 99 รายซึ่งยะลามี State Quarantine 8 ราย สำหรับกรณีการเรียกเคสผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์การสอบสวนโรค หรือ PUI เข้ามารับการตรวจนั้น ขณะนี้กรุงเทพฯ ค้นหาผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์ PUI จำนวน 11,665 ราย รองลงมาคือยะลา 4,448 ราย นนทบุรี 3,600 กว่าราย ภูเก็ต 2,000 กว่าราย ชลบุรี 1,800 กว่าราย สมุทรปราการประมาณ 1,300 ราย ทั้งนี้ การพยายามเปิดเผยข้อมูลให้มากที่สุดก็เพื่อต้องการให้รับรู้ว่าต้องมีการค้นหาเชิงรุกให้มาก ๆ โดยจังหวัดที่เป็นสีแดงทั้งหลายล้วนแต่เป็นกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการสแกนหาคนที่มีอาการให้เข้ามารับการรักษา ฉะนั้น ถ้าประชาชนอยู่ในจังหวัดที่มีการติดเชื้อสูงดังกล่าว แล้วมีอาการไข้ ไอ มีประวัติการป่วยอย่างใดอย่างหนึ่ง ขอให้เข้ามายังสถานพยาบาลใกล้บ้านเพื่อขอรับบริการตรวจได้



เมื่อดูกราฟจังหวัดที่อยู่ในพื้นที่สีเขียว เหลือง แดง พบว่า ถ้าจังหวัดในพื้นที่สีแดงได้ลงมาอยู่ในพื้นที่สีเขียวจะดีที่สุด กลุ่มใหญ่ยังอยู่ในพื้นที่สีเหลืองและเขียว ส่วนสีแดงจะเป็นจังหวัดที่เกาะกลุ่มเฉพาะภาคกลาง ภาคตะวันออก กรุงเทพฯ จะเป็นสีแดงสองกลุ่มใหญ่ กับภาคใต้ ซึ่งรวมกระบี่ ชุมพร นราธิวาส ปัตตานี ภูเก็ต ยะลา สงขลา ที่พบการรายงานผู้ป่วยใน 7 วันที่ผ่านมา ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งคือกรุงเทพฯ พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี นครปฐม ชลบุรี สมุทรปราการ ทั้งนี้ ฉะเชิงเทราปรับจากสีส้มที่มีการรายงานผู้ป่วยในช่วง 7-14 วัน ลงมาอยู่ในกลุ่มที่มีการรายงานผู้ป่วยช่วง 14-28 วัน เช่นเดียวกับภาคเหนือ ที่ต้องชื่นชมนครสวรรค์ พะเยา ที่ลงมาอยู่ในกลุ่มที่สามารถยืนระยะออกไปได้ยาวขึ้นเป็น 14-28 วันที่ไม่มีผู้ป่วย ขณะที่สุราษฎร์ธานีก็ลงจากกลุ่มสีส้มมาสีเหลือง โดยต้องขอบคุณผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บริหารทุกส่วน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และพี่น้องประชาชนที่อยู่ในจังหวัดนั้น ๆ ที่ให้ความร่วมมือทำให้จังหวัดของท่านปลอดโรค  ทั้งนี้ ผู้ป่วยรายใหม่ของต่างจังหวัดและกรุงเทพฯ มีแนวโน้มที่ทรงตัว ด้านการกระจายตัวของผู้ป่วยในกรุงเทพฯ ยังเป็นลูกคลื่นขึ้น ๆ ลง ๆ มียอดใหญ่อยู่ในช่วง 28 มีนาคม 63 ซึ่งการที่จะเป็นยอดขึ้นมาสูงหรือไม่ขึ้นอยู่กับประชาชนที่อยู่ในกรุงเทพฯ ต้องช่วยกัน ซึ่งกรุงเทพฯ มียอดสูงในช่วงแรกวันที่ 22 มีนาคม 63 ช่วงสอง วันที่ 29-30 มีนาคม 63 และช่วงสาม วันที่ 19 มีนาคม 63 โดยไม่อยากให้มียอดที่ 4-5 อีก
 
โฆษก ศบค. กล่าวถึงวิธีการทำงานของทีมสอบสวนโรค โดยยกตัวอย่าง 1. จังหวัดภูเก็ตที่มีตัวเลขการติดเชื้อสูงสุดว่า มีการรับรายงานผู้ป่วย 34 รายตั้งแต่ 2 – 22 เมษายน 63 ในช่วงแรกพบว่าทำงานในสถานบันเทิง สัมผัสผู้ป่วยต่างชาติ 3 ราย แล้วไปทำให้เกิดปัจจัยเสี่ยงต่อผู้ป่วยรายต่อ ๆ มา คือร่วมบ้านหรืออยู่ในชุมชนเดียวกัน 28 รายและค้นหาเชิงรุกได้อีก 3 ราย 2. จังหวัดชุมพร ที่มีผู้ป่วยและเสียชีวิต  โดยกลุ่มแรกพบผู้ป่วยที่อำเภอเมือง อำเภอท่าแซะ อำเภอทุ่งตะโก 20 ราย ช่วงวันที่ 6-22 เมษายน 63 โดยมีผู้เสียชีวิต 2 รายด้วยปอดอักเสบ ซึ่ง 2 รายนี้ทำให้มีผู้ที่ป่วยติดเชื้อจากโรคนี้ประกอบด้วยบุคลากรทางการแพทย์ 1 ราย ผู้ป่วยในหอผู้ป่วยเดียวกัน 5 ราย ผู้ที่มาดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาล 2 ราย และร่วมบ้านกับชุมชนอีก 10 ราย รวมทั้งหมด 20 ราย เป็นการสูญเสียอย่างมากที่เสียชีวิตแล้วทำให้ผู้อื่นและบุคลากรทางแพทย์ต้องติดโรคด้วย อย่างไรก็ตาม เป็นบทเรียนที่จะได้เรียนรู้ในเชิงของการสอบสวนโรคทางการแพทย์
 
เมื่อดูกราฟแสดงจำนวนผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค ขณะนี้มีการเรียกผู้ที่มีอาการไข้หรือมีประวัติมีไข้ รวมกับไอ น้ำมูก เข้ามาตรวจมากขึ้นวันละเกือบ 2,000 กว่าคน โดยจะต้องเพิ่มยอดนี้ขึ้นไปเรื่อย ๆ ทั้งนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ยืนยันว่าศักยภาพการตรวจของกรุงเทพฯ สามารถตรวจได้ถึง 10,000 ตัวอย่างต่อวัน และต่างจังหวัดตรวจได้ 10,000 ตัวอย่างต่อวัน รวม 20,000 ตัวอย่างต่อวัน โดยขณะนี้มีห้องปฏิบัติการตรวจทั้งภาครัฐและเอกชนรวม 123 แห่ง แบ่งเป็นในกรุงเทพฯ ภาครัฐ 29 แห่ง เอกชน 25 แห่ง ต่างจังหวัด ภาครัฐ 60 แห่ง เอกชน 9 แห่ง และมีเป้าหมายที่จะทำให้มีห้องปฏิบัติการตรวจให้ได้ 176 แห่ง กระจายตัวครบทุกจังหวัด ซึ่งจากต้นเดือนมกราคม 63 ที่ผ่านมามีห้องปฏิบัติการที่ตรวจได้ 2 แห่ง เพิ่มเป็น 16 แห่งในเดือนกุมภาพันธ์ 63 และเพิ่มเป็น 123 แห่งในขณะนี้ ซึ่งขอชื่นชมนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ช่วยกันทำให้ประเทศไทยมีระบบควบคุมป้องกันที่ดี
 


2. สถานการณ์โควิด-19 ของโลก

โฆษก ศบค. กล่าวถึงสถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด -19) ของโลกว่า  ตัวเลขผู้ติดเชื้อยืนยันสะสมอยูที่ 2,700,000 กว่าคน อาการหนัก 58,000 กว่าคน คิดเป็นประมาณ 2.2% หายป่วยแล้ว 74,000 กว่าคน เสียชีวิต 190,000 กว่าคน คิดเป็นประมาณ 7% โดยขณะนี้อัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากเดิมประมาณ 2 - 3 เดือนที่ผ่านมา คาดการณ์จะมีการเสียชีวิตประมาณ 4% แต่ปัจจุบันขึ้นมาอยู่ที่ 7%  ดังนั้นการที่จะบอกเป็นตามฤดูกาลและพยายามจะลดความสำคัญลงจึงไม่ใช่ เพราะอัตราการเสียชีวิตสูงมากถึง 7% แล้ว ทั้งนี้ประเทศสหรัฐอเมริกายังเป็นอันดับที่ 1 ที่มีอัตราการเสียชีวิสูงที่สุดของโลก จำนวน 49,000 กว่าคน เพิ่มขึ้นภายในวันเดียวถึง 2,169 คน และคาดว่าพรุ่งนี้ (25 เมษายน 63) จำนวนผู้เสียชีวิตจะไปอยู่ที่ 50,000 คน ตัวเลขผู้ติดเชื้อยืนยันสะสม 800,000 กว่าคน และคาดว่าจะไปถึงหลักล้านในเร็วนี้ และประเทศที่เสียชีวิตรองลงมาคืออังกฤษ ฝรั่งเศส รวมทั้งสเปน อิตาลี เยอรมนี ก็ยังอยู่ในอันดับต้น ๆ เช่นกัน ส่วนประเทศที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ อันดับที่ 1 คือ สหรัฐอเมริกา ตามด้วยรัสเซีย (เพิ่มขึ้นวันเดียว 4,700 กว่าคน) และสเปน 
 
ส่วนเรื่องที่มีหลายคนห่วงใยกรณีที่ยังมีคนไทยที่เรียนหนังสืออยู่ในกลุ่มประเทศทางอเมริกาใต้จะได้เดินทางกลับประเทศไทยเมื่อไร โดยเฉพาะขณะนี้ประเทศเปรู มีผู้ติดเชื้อยืนยันสะสม 20,914 คน ผู้ป่วยรายใหม่วันเดียว 1,600 กว่าคน ทำให้พ่อ แม่ ผู้ปกครองมีความเป็นห่วงลูกหลานตนเองนั้น โฆษก ศบค. กล่าวชี้แจงว่าขณะนี้สถานทูตแต่ละแห่ง เอกอัครราชทูต และสถานกงสุล ต่าง ๆ ที่อยู่ในทุกประเทศ ทำงานอย่างหนัก และมีการประสานกับคนไทยทุกคน ขณะเดียวกันคนไทยและนักเรียนไทยที่อยู่ในต่างประเทศก็สามารถโทรศัพท์ประสานติดต่อมายังสถานทูตต่าง ๆ ตามเบอร์ที่ได้เคยแจ้งไว้แล้วในเว็บไซต์ ซึ่งมีเบอร์ฮอตไลน์ของเอกอัครราชทูตสามารถที่จะแจ้งมาได้  เพราะบางประเทศปิดสนามบิน ไม่สามารถที่จะมีการบินพาณิชย์ได้ ฉะนั้นจึงต้องรอให้เปิดสนามบินถึงจะเดินทางกลับประเทศไทยได้ แต่อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าคนไทยโดยเฉพาะเด็ก ๆ และคนที่มีภาวะที่ต้องพึ่งพิงสูงต้องได้รับการดูแลก่อน ซึ่งที่ประชุม ศบค. โดยรองผู้บัญชาการทหารบก ได้ย้ำถึงเรื่องนี้ว่าจะต้องพยายามดูแลทุกคนและนำกลับบ้านให้ได้ แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับหลายสถานการณ์ รวมทั้งเรื่องของเครื่องบิน น่านฟ้าของประเทศนั้น ๆ ว่าเปิดหรือไม่ และการจัดการเรื่องของ State Quarantine  ทั้งนี้ในส่วนของประเทศไทยได้มีการเตรียมการทุกอย่างรองรับไว้เรียบร้อยแล้ว จึงขอให้ประชาชนทุกคน พ่อแม่ ผู้ปกครอง ได้อุ่นใจและสบายใจได้ต่อการดำเนินการดังกล่าว
 
สำหรับสถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด -19) ของเอเชียนั้น ญี่ปุ่นเมื่อวานนี้มีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น 418 คน สิงคโปร์รายใหม่เพิ่มขึ้น 1,037 คน ทำให้ตัวเลขรวมของผู้ป่วยยืนยันสะสมอยู่ที่ 11,100 กว่าคน เกาหลีใต้ รายใหม่เพิ่ม 6 คน ป่วยยืนยันสะสม 10,700 กว่าคน อินโดนีเซีย รายใหม่เพิ่ม 357 คน รวมป่วยยืนยันสะสมประมาณ 7,700 คน ฟิลิปปินส์ รายใหม่เพิ่ม 200 กว่าคน รวมป่วยยืนยันสะสม 6,900 คน มาเลเซีย รายใหม่เพิ่ม 71 คน ป่วยยืนยันสะสม 5,600 คน ข้อมูลเหล่านี้ ทุกคนต้องช่วยกันติดตามสถานการณ์การติดเชื้อของประเทศต่าง ๆ รอบประเทศไทย เพื่อที่จะได้นำข้อมูลมาพิจารณาในการดูแลคนในประเทศไม่ให้การเข้า-ออกเป็นตัวการนำเชื้อเข้ามาในประเทศได้ ทั้งนี้ในส่วนของตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่ขณะนี้ประเทศอินเดียเพิ่มขึ้นนำต่อเนื่อง รวมถึงสิงคโปร์ที่มีอัตราการติดเชื้อพุ่งขึ้นเช่นกัน ตามด้วยปากีสถาน ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์
 
โฆษก ศบค. กล่าวถึงประเด็นที่น่าสนใจในต่างประเทศ สรุปดังนี้ (1) ประเทศอินโดนีเซีย กรุงจาการ์ตา ขยายมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมออกไปถึงวันที่ 22 พฤษภาคม 63 หลังจากที่มีผู้ละเมิดกฎในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เช่น การชุมนุม สำหรับร้านอาหารแบบซื้อกลับบ้านและธุรกิจทั้งหมดต้องปิดยกเว้นบริการที่จำเป็น การละเมิดกฎดังกล่าวจะถูกปรับเป็นเงินสูงสุดถึง 100 ล้านรูเปีย หรือประมาณ 9,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ และจำคุกสูงถึง 1 ปี ยังขอให้ชาวมุสลิมซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศทำการละหมาดที่บ้านแทนการไปที่มัสยิด (2) ยูเครน ขยายมาตรการล็อคดาวน์ไปถึง 11 พฤษภาคม 63 (3) อังกฤษ หรือสหราชอาณาจักร ใช้มาตรการคุมเข้มทางสังคมยาวตลอดทั้งปีนี้ หรือจนกว่าวัคซีนจะสำเร็จ เบื้องต้นได้ประกาศเพิ่มระยะเวลาในการล็อคดาวน์ไปถึง 7 พฤษภาคม 63 และมีแนวโน้มจะขยายออกไปอีกหากสถานการณ์โดยรวมยังไม่ดีขึ้น (4) มาเลเซีย ขยายเวลาเพิ่มเติมจากคำสั่งควบคุมการเคลื่อนไหวครั้งที่ 3 ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 28 เมษายน 63 โดยจะออกคำสั่งควบคุมการเคลื่อนไหวครั้งที่ 4 ต่อไปอีก เพื่อให้ประชาชนเตรียมความพร้อมที่จะอยู่บ้านให้นานขึ้นในช่วงเดือนรอมฎอน (5) เยอรมัน ออกกฎเข้มให้ประชาชนสวมหน้ากากทั้งประเทศ โดยให้ประชาชนสวมหน้ากากเพื่อป้องกันการติดเชื้อในขณะที่โดยสารขนส่งสาธารณะ หรือออกนอกเคหะสถาน เป็นหนึ่งในมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของการติดเชื้อ และเมื่อวันพุธที่ผ่านมาเป็นวันแรกที่ภาคธุรกิจบางส่วนของเยอรมันกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง หลังจากถูกปิดจากมาตรการล็อคดาวน์เป็นเวลาเกือบหนึ่งเดือน โดยภาคธุรกิจที่กลับมาเปิดให้บริการจะเป็นร้านค้าที่มีพื้นที่ไม่เกิน 800 ตารางเมตร ส่วนโรงเรียนคาดว่าจะกลับมาเปิดภาคเรียนได้ภายใน 2 สัปดาห์หน้า
 
โฆษก ศบค. กล่าวถึงมาตรการของแต่ละประเทศดังกล่าวที่ยังต้องตรึงเรื่องของมาตรการต่าง ๆ เอาไว้และมีการยืดขยายต่อไปว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทยคงจะคาดการณ์ได้ว่า การดำเนินการของประเทศไทยไม่แตกต่างกับที่ต่างประเทศดำเนินการอยู่ จึงต้องสื่อสารให้ประชาชนได้รับทราบว่าไทยไม่ได้เป็นประเทศเดียวที่ต้องใช้มาตรการเข้มเช่นนี้ จะเห็นว่าหลายประเทศทำได้ แล้วยังต้องทำต่อไป เพราะฉะนั้นมาตรการเหล่านี้ต้องพยายามไม่ให้การ์ดตกอย่างที่ได้กล่าวกันมาโดยตลอด  โดยต้องขอบคุณประชาชนทุกคนในความร่วมมือกันเรื่องของการสวมใส่หน้ากาก จนปัจจุบันนี้ปรากฏการใช้หน้ากากอนามัยเป็นเรื่องปกติที่จะใส่กันเกือบทุกวัน และมีการจัดทำหน้ากากผ้าออกมาเพียงพอกับประชาชนแล้ว
 
3. รายงานผลการปฏิบัติการตามมาตรการนำคนไทยกลับจากต่างประเทศ 

โฆษก ศบค. กล่าวว่า วันนี้จะมีคนไทยเดินทางกลับมาจากญี่ปุ่น 31 คน เวลา 15.30 น. คนไทยเดินทางกลับมาจากอินเดีย ซึ่งเป็นพระภิกษุสงฆ์ 104 รูป แม่ชี และผู้ปฏิบัติธรรม รวม 171 คน เวลา 15.10 น. ทั้งนี้ ในวันพรุ่งนี้ (25 เมษายน 63) จะมีนักศึกษาไทย คนไทยที่ตกค้าง เดินทางกลับมาจากอิหร่าน 21 คน เวลา 07.25 น. และยังมีคนไทยที่จะเดินทางกลับมาจากอินเดีย เป็นพระภิกษุสงฆ์ 122 รูป แม่ชี และผู้ปฏิบัติธรรม รวม 171 คน เวลา 15.10 น. โฆษก ศบค. ย้ำว่าหากคนไทยที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศและต้องการเดินทางกลับให้ติดต่อสถานทูตในประเทศนั้น ๆ เพื่อที่ทาง ศบค. จะได้ทราบจำนวนตัวเลขผู้มีความประสงค์จะเดินทางกลับอย่างแน่ชัด และจัดเตรียมพื้นที่ในการทำ State Quarantine ให้เพียงพอ
 
การปฏิบัติงานตามมาตรการเคอร์ฟิว
 
รายงานผลจากการปฏิบัติการจากการประกาศมาตรการเคอร์ฟิวประจำวันที่ 24 เมษายน 63 โดยศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคงพบว่า หลังการปรับเปลี่ยนรูปแบบการปฏิบัติงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ คือ ลดจำนวนด่านตรวจ และจัดเจ้าหน้าที่ตำรวจสายตรวจเพื่อลาดตระเวนตามพื้นที่ในชุมชน ทำให้จำนวนตัวเลขของผู้กระทำผิดกรณีฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ลดลง โดยประชาชนที่กระทำความผิด กรณีออกนอกเคหสถานลดลงไป 135 ราย เหลือ 485 ราย ประชาชนที่กระทำความผิดกรณีมั่วสุมลดลง 67 ราย เหลือ 39 ราย ขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฏิบัติงานลาดตระเวน และขอบคุณประชาชนที่ให้ความร่วมมือปฏิบัติตามมาตรการ เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19
 
รายงานการพบผู้ละเมิดกระทำความผิดในแต่ละภาค จังหวัดเชียงใหม่พบผู้กระทำความผิด 9 ราย ภูเก็ตพบผู้กระทำความผิด 28 ราย สุรินทร์พบผู้กระทำความผิด 13 ราย ปทุมธานีพบผู้กระทำความผิด 38 ราย ส่วนกรุงเทพฯ พบผู้กระทำผิดกรณีออกนอกเคหสถาน 35 ราย และผู้กระทำผิดกรณีรวมกลุ่มมั่วสุม 6 คน โดยปทุมธานีมีจำนวนผู้ฝ่าฝืนมากที่สุดจำนวน 38 ราย กรุงเทพฯ 35 ราย ภูเก็ต 28 ราย สงขลา 27 ราย ปัตตานี 24 ราย นนทบุรี กระบี่ ลพบุรี สระบุรี และสุรินทร์ ตามลำดับ สำหรับจังหวัดที่ไม่พบผู้กระทำผิดฝ่าฝืนเลย ได้แก่ สิงห์บุรี ฉะเชิงเทรา ยโสธร นครพนม บึงกาฬ มหาสารคาม สกลนคร น่าน เพชรบุรี และพังงา
 
โฆษก ศบค. ยังได้รับรายงานเพิ่มเติมจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติถึงจำนวนผู้ฝ่าฝืนกระทำผิดรวมกลุ่ม ชุมนุม มั่วสุม ตั้งแต่วันที่ 3 – 22 เมษายน 63 รวม 1,972 ราย กลุ่มที่กระทำผิดมากที่สุดจำแนกตามอายุ คือกลุ่มอายุไม่เกิน 18 ปี และกลุ่มอายุ 19 – 30 ปี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพศชาย 1,352 ราย เพศหญิง 620 ราย ซึ่งมักเกี่ยวข้องกับการเล่นพนัน จึงขอความร่วมมือให้ช่วยกันตักเตือนบุตรหลานไม่ให้กระทำผิดเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัส-19






Recommend News





MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.