เผยมาตรการ 6 ข้อ หากไทย จะเลิกล็อกดาวน์ประเทศ
18 เม.ย. 2563, 15:21
วานนี้ 17 เม.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงถึงสถานการณ์โควิด-19 ว่า
องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุจะต้องมี 6 ข้อ ถ้าจะยกเลิก “การล็อกดาวน์ช่วงโควิด-19” ได้แก่
1.ต้องสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคภายในประเทศได้แล้ว ในสถานการณ์ของประเทศไทยที่พบผู้ป่วยใหม่ 28 ราย ถือว่าเป็นการควบคุมได้ในระดับหนึ่ง แต่ในความเหมาะสมนั้น อาจต้องไม่พบผู้ป่วยเลย หรือจะต้องคงที่อยู่ที่จำนวนน้อยๆ เป็นระยะเวลานาน
2.ระบบสุขภาพต้องสามารถตรวจหาผู้ที่มีอาการของโรค ตรวจหาเชื้อ แยกตัวและรักษา พร้อมทั้งสอบสวนโรค ซึ่งการตรวจหาเชื้อในประเทศไทยมีความสามารถเพียงพอ แต่จะต้องพัฒนาระบบการรายงานโรคให้รวดเร็วขึ้น ในการนี้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีหน้าที่ดูแลค่าใช้จ่ายในการตรวจหาเชื้อของผู้ป่วย โดยจะต้องอำนวยความสะดวกให้แก่สถานพยาบาลในการบริการด้านค่าใช้จ่ายและยืนยันการตรวจทั้งหมด
3.มีความเสี่ยงระดับน้อยที่สุดในสถานที่เสี่ยงมากที่สุด เช่น บ้านพักคนชรา ฯลฯ ในประเทศไทยแทบจะไม่มีการรายงานผู้ป่วยเกิดขึ้นในบ้านพักคนชรา เพราะส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อจากการดูแลรักษาพยาบาล
4.โรงเรียน สำนักงานและสถานที่สาธารณะต่างๆ ต้องมีมาตรการป้องกันโรคที่มีประสิทธิภาพ มาตรการตอนนี้ของประเทศไทย มีหลายพื้นที่ปิดทำการ รวมถึงมาตรการและระเบียบในการเข้าใช้สถานที่ต่างๆ ให้มีการสอดรับกับการป้องกันโรค
5.สามารถจัดการความเสี่ยงของโรคจากผู้เดินทางเข้าประเทศได้ ขณะนี้ประเทศไทยจำกัดปริมาณผู้เดินทางเข้ามาภายในประเทศ ให้มีผู้เดินทางเข้า-ออกได้เฉพาะผู้ที่จำเป็นเท่านั้น เช่น คนไทยที่กลับจากต่างประเทศภายหลังการประกอบศาสนกิจ เมื่อกลับมาถึงประเทศไทยก็ทำการตรวจหาเชื้อและเข้ากักกันในสถานที่ที่รัฐบาลจัดไว้ให้ (State quarantine) ซึ่งการป้องกันโรคไม่ให้แพร่ระบาดได้
6.คนในชุมชนต้องมีความรู้ มีส่วนร่วม และได้รับการสนับสนุนให้มีชีวิตอยู่ภายใต้สังคมที่เปลี่ยนแปลงไปหลังจากการเกิดโรค ในส่วนนี้ประเทศไทยได้รับคำชมว่า คนไทยสวมใส่หน้ากากอนามัยป้องกันตัวเองจำนวนมากขึ้น การใช้หน้ากากผ้าที่มากขึ้น แต่ยังมีส่วนน้อยที่ยังมีการรวมตัวและทำให้เกิดการแพร่กระจายของโรคเป็นกลุ่มก้อน