"เจ้าของฟาร์มชื่อดัง" มั่นใจ! ม้าไม่เป็นกาฬโรคแอฟริกา ลั่นมีระบบป้องกันที่ดี
2 เม.ย. 2563, 15:35
วันที่ 2 เม.ย. 63 ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ตรวจสอบที่บริเวณ คาวบอยฟาร์ม ตั้งอยู่เลขที่ 158 หมู่ที่ 3 ตำบลบ้านพราน อำเภอแสวงหา ซึ่งเป็นฟาร์มที่เปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรบรรยากาศแบบตะวันตก ที่มีชื่อมีนักท่องเที่ยวทั้งในจังหวัดและนอกจังหวัด นิยมเดินทางไปท่องเที่ยว โดยให้นักท่องเที่ยวได้ขี่ม้าชมฟาร์ม ซึ่งมีม้าที่ทางฟาร์มได้ทำการเลี้ยงดู จำนวนกว่า 30 ตัว หลังจากมีข่าวม้าที่ให้บริการนักท่องเที่ยวที่ชายหาดหัวหิน และม้าที่ฟาร์มม้า ในอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ล้มป่วยและเสียชีวิตจากโรคกาฬโรคม้า หรือโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า ซึ่งผลตรวจจากห้องปฏิบัติการสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ พบว่าเป็นโรคอุบัติใหม่ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยมาก่อน ซึ่งมีแมลงดูดเลือด ประเภท ริ้น ยุง เป็นพาหะนำเชื้อไวรัสเข้าสู่ม้า ส่งผลทำให้มีม้าป่วยและล้มตายอย่างเฉียบพลัน ซึ่งโรคนี้ยังไม่มียารักษา โดยสถานการณ์ล่าสุดตอนนี้ยืนยันพบม้าตายทั้ง 2 จังหวัด สะสมแล้วกว่า 100 ตัว
จากการสอบถาม นายสรรค์ คงเวทย์ เจ้าของคาวบอยฟาร์ม เปิดเผยว่า หลังจากมีข่าวม้าที่ให้บริการนักท่องเที่ยวที่ชายหาดหัวหิน และม้าที่ฟาร์มม้า ในอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ล้มป่วยและเสียชีวิตจากโรคกาฬโรคม้าจำนวนมาก ซึ่งทางตนเองมีความมั่นใจว่าทางคาวบอยฟาร์มจะไม่เกิดเรื่องเช่นนี้ขึ้นอย่างแน่นอน เพราะทางฟาร์มของตนเองได้จัดทำระบบคัดกรองและมีการป้องกันโรคของม้าเป็นอย่างดี โดยหลังจากได้ทำการเคลื่อนย้ายม้ามาที่ฟาร์ม ม้าที่ถูกเคลื่อนย้ายก็จะถูกนำมาพักไว้ที่คอกเปิด เพื่อรอสังเกตอาการและทำการตรวจเลือดหาเชื้อโรคก่อนทุกครั้ง หลังจากผ่านการตรวจโรคแล้ว ม้าทั้งหมดในฟาร์มก็จะถูกนำไปเก็บไว้ในคอก ที่สร้างขึ้นมีประตูปิดมิดชิด ติดตั้งล้อมรอบไปด้วยมุ้งลวดอย่างดีไว้สำหรับกันยุง ริ้น เหลือบ ไร ตัวพาหะที่นำพาเชื้อไวรัสและเชื้อโรคไปติดม้า โดยจะมีพนักงานทำความสะอาดคอกทุกวัน ฉีดยาฆ่าเชื้อทุกอาทิตย์ ซึ่งมีสัตวบาลประจำฟาร์มอยู่ด้วย และยังมีเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ลงพื้นที่มาดูแลให้วัคซีนอยู่เป็นประจำ ตนเองมั่นใจว่าม้าทุกตัวในฟาร์มของตนเองมีความปลอดภัยอย่างแน่นอน
นายสรรค์ กล่าวต่ออีกว่า ชาวบ้านส่วนมากโดยทั่วไปที่เลี้ยงกันจะไม่มีการให้วัคซีนกับสัตว์ ไม่กางมุ้ง และไม่ทำความสะอาด ก็จะทำให้เกิดโรคจนเจ็บป่วยและล้มตายขึ้นได้ ซึ่งทางฟาร์มหากจะนำสัตว์ออกหรือจะนำไปผสมพันธุ์ก็จะต้องทำการเจาะเลือดตรวจหาโรคทุกครั้ง โดยตนเองอยากจะให้ชาวบ้านที่เลี้ยงม้า ให้ทำสมุดประจำตัวม้า ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์มาคอยดูแลตรวจสอบทุก 3 หรือ 6 เดือน ม้าที่เลี้ยงก็จะมีความปลอดภัยจากโรค หากม้าตัวไหนที่ติดเชื้อร้ายแรง ทางเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ก็จะมีขั้นตอนในการกำจัดการแพร่ระบาดต่อไป