โรบินสัน โอเชียนฯ ร่วมกับ ศวทม. (ตอนบน) จัดกิจกรรม“โรบินสันอนุรักษ์เต่าทะเล "
6 มี.ค. 2563, 19:10
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 6 มี.ค.2563 ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน หรือ ศวทม. (ตอนบน) บ้านแหลมพันวา ต.วิชิต อ.เมืองภูเก็ต นางสาวพัชรี รอดสวัสดิ์ ผู้จัดการทั่วไปห้างสรรพสินค้าโรบินสัน โอเชียน จังซีลอนและภูเก็ต เป็นประธานกล่าวเปิดโครงการ “โรบินสันอนุรักษ์เต่าทะเล เพื่อคืนเต่าทะเลสู่ทะเลอันดามัน ครั้งที่ 6 ประจำปี 2563” โดยมี ดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน หรือ ศวทม. (ตอนบน) และนายหิรัญ กังแฮ นักวิชาการประมงชำนาญการพิเศษพร้อมเจ้าหน้าที่ร่วมให้การต้อนรับ
ทั้งนี้กิจกรรมได้มีการบรรยายให้ความรู้เรื่อง “ชีววิทยาเต่าทะเลและแนวทางอนุรักษ์เต่าทะเลอย่างยั่งยืน” โดย นายหิรัญ กังแฮ นักวิชาการประมงชำนาญการพิเศษ จากนั้นได้ร่วมกันปล่อยเต่าตนุจำนวน 10 ตัว โดยมีเจ้าหน้าที่ของศูนย์วิจัยฯ ร่วมให้ความรู้ความเข้าใจในวิธีการปล่อยเต่าทะเลกลับคืนสู่ธรรมชาติอย่างถูกต้อง ก่อนที่ทั้งหมดจะร่วมชมพื้นที่บ่ออนุบาลเต่าทะเลของศูนย์วิจัย ฯ
นางสาวพัชรี รอดสวัสดิ์ ผู้จัดการทั่วไปห้างสรรพสินค้าโรบินสัน โอเชียน จังซีลอนและภูเก็ต เปิดเผยว่า โครงการดังกล่าว จัดขึ้นเป็นปีที่ 6 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการอนุรักษ์เต่าทะเล ในบริเวณทะเลอันดามัน สร้างและปลุกจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์ เนื่องจากปัจจุบันเต่าทะเลนั้นเป็นสัตว์ทะเลหายากสำหรับประเทศไทย ทางห้างสรรพสินค้าโรบินสัน โอเชียน จังซีลอน และภูเก็ตจึงได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ จึงมีโครงการร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอันดามันตอนบนอย่างต่อเนื่อง
และในครั้งนี้ก็ได้รับการสนับสนุนจากหลายฝ่ายเข้าร่วมประกอบด้วย ด้วย ผศ.ปราณี สกุลพิพัฒน์กงศุลกิตติมศักดิ์ประเทศเนปาล ประจำภูเก็ต นายชุมพล แซ่ซุ่น ประธานสภาเด็กและเยาวชนเทศบาลนครภูเก็ต กองสวัสดิการสังคมเทศบาลนครภูเก็ต พนักงานบริษัทแมคไทย (แมคโดนัล)จำกัด สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยจังหวัดภูเก็ต สมาคมสื่อมวลชนภูเก็ต บริษัทคิงอาร์ตแอดเวอร์ไทซิ่งจำกัด รวมถึงพนักงานของห้างสรรพสินค้าในเครือโรบินสัน รวมกว่า 50 คน ซึ่งนับเป็นจุดมุ่งหมายที่ดีในการสร้างความตระหนัก และหันมาให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายากเหล่านี้ให้คงอยู่สืบไป
ด้าน นายหิรัญ กังแฮ นักวิชาการประมงชำนาญการพิเศษ กล่าวเพิ่มเติม ในระหว่างบรรยายว่า “ปัจจุบันถึงแม้จะมีกฏหมายคุ้มครองสัตว์ทะเลหายากแล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีปัญหาขยะที่จะส่งผลต่อจำนวนประชากรสัตว์ทะเล และสัตว์ทะเลหายากแทบทั้งสิ้น แต่ละปีมีขยะจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ เช่น เศษอวน พลาสติกต่างๆ คร่าชีวิตสัตว์ทะเลเป็นจำนวนมาก
ดังนั้น สิ่งที่ทุกภาคส่วนต้องทำขณะนี้คือลดการสร้างขยะให้เหลือน้อยที่สุด หยุดฟุ่มเฟือย และช่วยจัดการปัญหาขยะในทุกมิติ เพื่อตัดวงจรขยะที่จะเพิ่มลงในทะเล ไม่ว่าจะเป็นขยะขนาดใหญ่หรือขนาดเล็กก็มีผลร้ายต่อสัตว์ทะเลแทบทั้งสิ้น นอกจากนี้จากการศึกษายังพบว่าปัญหาของไมโครพลาสติก ซึ่งเปลี่ยนรูปจากการกัดกร่อนเป็นเวลานานของพลาสติกขนาดใหญ่ได้มีการสะสมในทะเล และต่อมามีการสะสมในสัตว์ทะเลแทบทุกชนิดที่เป็นอาหาร เมื่อมนุษย์นำสัตว์ทะเลเหล่านั้นมารับประทาน ก็จะสะสมไม่โครพลาสติกในร่างกายและเมื่อมีจำนวนมากเข้าก็เกิดการเจ็บป่วยในที่สุด จึงคิดว่าถึงเวลาแล้วที่คิดว่าทุกคนต้องช่วยกัน อย่าคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นวงจรเกี่ยวเนื่องกันแทบทั้งสิ้น