ลุ้น! “ฟ้าทะลายโจร” สมุนไพรไทย ต้านเชื้อไวรัสโควิด-19
3 มี.ค. 2563, 14:21
กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และองค์การเภสัชกรรม ได้ลงนามความร่วมมือในการศึกษาความเป็นไปได้ที่ “ฟ้าทะลายโจร” สมุนไพรไทย จะสามารถต้านเชื้อไวรัสโควิด-19 จากข้อมูลการศึกษาวิจัยที่ผ่านมาพบว่า "ฟ้าทะลายโจร" มีสารแอนโดรกราโฟไลด์ สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกาย ต้านการอักเสบ ช่วยลดไข้ และสามารถต้านเชื้อโคโรนาไวรัสที่ก่อโรคซาร์สได้ โดยเฉพาะไวรัสในกลุ่มโรคทางเดินหายใจ และน่าจะมีศักยภาพช่วยป้องกันไม่ให้เชื้อโคโรนาเข้าเซลล์ และป้องกันการแบ่งตัวของโคโรนาไวรัสได้
หากการวิจัยแสดงว่าฟ้าทะลายโจร มีผลต้านไวรัสโควิด-19 จะใช้ร่วมกับยาต้านไวรัสแผนปัจจุบัน และศึกษาวิจัยทางคลินิกในผู้ป่วย แต่หากการทดสอบไม่มีผลต้านไวรัสโควิด-19 จะยังใช้ฟ้าทะลายโจร ในการเสริมภูมิคุ้มกัน เพื่อบรรเทาอาการของโรคหวัดและแก้ไข้ เจ็บคอ และอาจศึกษาวิจัยสมุนไพรอื่นต่อไป ขณะนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สามารถเพาะเชื้อและเลี้ยงเซลล์ไวรัสโคโรนา 2019 ในห้องปฏิบัติการได้ และนำผลเซรั่มของอาสาสมัครที่ได้กินสารสกัดจากฟ้าทะลายโจร โดยสกัดเซรั่มทุก 7 วัน มาสังเกตปฏิกิริยาที่มีกับเซลล์ไวรัสโคโรนา 2019 และวิเคราะห์ว่าสารสกัดฟ้าทะลายโจรจะสามารถเข้าไปทำลายเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้ในระยะใด โดยใช้ระยะเวลาประมาณ 1 เดือน
สมุนไพรฟ้าทะลายโจร อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ.2542 (บัญชียาจากสมุนไพร) ใช้ลดอาการไข้หวัด เจ็บคอ รักษาอาการท้องเสียไม่ติดเชื้อ มีทั้งเป็นแคปซูล ยาเม็ด ลูกกลอน อาจมีผลข้างเคียง มีความดันเลือดต่ำลง เกิดอาการหน้ามืด วิงเวียนได้ ขึ้นอยู่กับปริมาณของสารสำคัญในฟ้าทะลายโจร และไม่แนะนำให้ใช้ในหญิงตั้งครรภ์ ฟ้าทะลายโจร เมื่อเทียบกับยาแก้หวัดแผนปัจจุบัน มีคุณสมบัติไม่ทำให้ง่วงซึม และไม่ทำให้ดื้อยา แต่ไม่ควรรับประทานคู่กับกลุ่มยาที่มีฤทธิ์ในการลดไข้ เพราะอาจจะไปเสริม หรือลดฤทธิ์ของยาบางตัว และไม่ควรใช้ติดต่อกันนานเกินไป เนื่องจากจะมีผลทำให้ตับและไตทำงานหนัก
ฟ้าทะลายโจร ยังมีชื่ออื่น เรียกกันว่า ฟ้าทะลาย หญ้ากันงู น้ำลายพังพอน เมฆทะลาย และฟ้าสะท้าน เป็นพืชล้มลุก ใช้เมล็ดในการขยายพันธุ์ ปลูกได้ดีในที่มีอากาศร้อน หรือร้อนชื้น ชอบดินร่วนซุย และควรปลูกในพื้นที่โล่งแจ้ง หรือมีแสงรำไรและมีน้ำอุดมสมบูรณ์ ปัจจุบันมีการนำฟ้าทะลายโจรใช้ในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ ทดแทนการใช้ยาปฏิชีวนะ เพื่อแก้ปัญหาการตกค้างของยาในเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะสัตว์ปีก เช่น การเลี้ยงไก่ มีสรรพคุณแก้เจ็บคอ ลดไข้ แก้ท้องเสีย ไปผสมกับสมุนไพรอื่นๆ เช่น ไพล ให้ไก่กิน ป้องกันและรักษาโรคในระบบทางเดินหายใจและทางเดินอาหาร.