รอง ผวจ.น่าน ประธานในพิธีเปิด โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมแฟชั่นล้านนาตะวันออกสู่ต่างประเทศ ประจำปี 2562
25 มิ.ย. 2562, 20:21
25 มิถุนายน 2562 ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า ที่ห้องประชุมโรงแรมน่านกรีนเลควิว รีสอร์ท จังหวัดน่าน นายสัมฤทธิ์ สวามิภักดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการบูรณาการการค้าการลงทุน กิจกรรมหลักโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมแฟชั่นล้านนาตะวันออกสู่ต่างประเทศ กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ปีงบประมาณ 2562 เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ผลิตให้เกิดทักษะการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ให้มีความหลากหลาย รวมถึงการเชื่อมโยงตลาดในกลุ่มอุตสาหกรรมภาคเหนือตอนบน 2 โดยมีผู้บริหารสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ และที่ปรึกษาพิเศษ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ และผู้ประกอบการเครื่องประดับและผ้าทอในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 (เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน) เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้กว่า 200 คน
โดยโครงการนี้เป็นโครงการที่ดำเนินการต่อเนื่องจากปี 2561 ซึ่งการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเชิงลึก เรื่อง “การออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องประดับและผ้าทอล้านนาตะวันออก” กิจกรรมการพัฒนาเครื่องประดับและผ้าทอล้านนาตะวันออกสู่ต่างประเทศ ภายใต้โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมแฟชั่นล้านนาตะวันออกสู่ต่างประเทศ ครั้งนี้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดน่านเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก และมีสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอเป็นหน่วยงานดำเนินการ โดยมีจังหวัดในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 (เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน) เป็นกลุ่มจังหวัดที่มีศักยภาพในการผลิตผลิตภัณฑ์เครื่องประดับและผ้าทอที่ศิลปวัฒนธรรมในเรื่องการแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์ และมีความเป็นมาที่ยาวนาน และทรงคุณค่าแก่การอนุรักษ์ หากสามารถนำมาต่อยอดในการพัฒนาเครื่องประดับและผ้าทอได้ โดยการนำศิลปวัฒนธรรมและประเพณี วิถีชีวิตดังกล่าวมาผสมผสานด้วยการเล่าเรื่องและถอดอัตลักษณ์สู่การออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะวัฒนธรรมการออกแบบเครื่องประดับ และการผลิตผ้าทอพื้นเมืองผสมผสานกับการออกแบบ ตามกระแสความต้องการของตลาดและเทคโนโลยีใหม่ จนเป็นสินค้าที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ซื้อและนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ เกิดการยอมรับ ออกสู่ตลาดสากล นับว่าเป็นการช่วยกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ ได้พัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างรายได้ให้เพิ่มมากขึ้น พึ่งพาตนเองได้ นำความรู้ไปพัฒนาท้องถิ่นและพัฒนาชุมชนให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง นำมาซึ่งการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่อย่างยั่งยืนต่อไป